รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดพัฒนางานบริการปฐมภูมิ ให้โรงพยาบาลในสังกัด จัดบริการเชิงรุก เพิ่มการให้บริการประชาชนในชุมชน ทั้งในเขตเมืองและชนบท เช่นที่จังหวัดหนองคาย สร้างโรงพยาบาลหนองคาย 2 เป็นศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง พร้อมเปิดคลินิกโรคเรื้อรังที่ รพ.สต.เครือข่าย ทั้ง 20 แห่ง ผลการดำเนินงาน 2 ปีผู้รับบริการพอใจ ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้สะดวกใกล้บ้านลดระยะเวลารอคอยจากเดิม 146 นาที เหลือเพียง 23-50 นาที ต่อ 1 ราย
วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2558) ที่จังหวัดหนองคาย นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะ ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลหนองคายแห่งที่ 2 โรงพยาบาลโพนพิสัย โรงพยาบาลเฝ้าไร่ เพื่อติดตามงานตามนโยบายและให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิให้มีศักยภาพเพื่อให้บริการประชาชนแบบใกล้บ้าน ใกล้ใจ เมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อยสามารถรักษาใกล้บ้านได้ และจะมารับการรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ระดับทุติยภูมิหรือระดับตติยภูมิเมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคซับซ้อนรุนแรง ต้องพบผู้เชี่ยวชาญ เป็นการแก้เรื่องความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากเช่นที่จังหวัดหนองคาย ได้เปิดโรงพยาบาลหนองคายแห่งที่ 2 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลระดับปฐมภูมิ เพื่อดูแลประชาชนในเขตเมือง ที่เจ็บป่วยด้วยโรคทั่วๆไป เช่น ไข้หวัด ท้องเสีย โรคกระเพาะอาหารอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ โรคเรื้อรังเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนและควบคุมได้ เป็นต้น
โดยผลการดำเนินงานในรอบ 2 ปี พบว่า ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้มากขึ้น มีผู้เข้ารับบริการวันละ 200-300 คน ช่วยให้โรงพยาบาลจังหวัดสามารถให้บริการระดับทุติยภูมิและระดับตติยภูมิได้อย่างเต็มศักยภาพ ลดระยะเวลารอคอยในการเข้ารับบริการจากเดิมใช้เวลาในการเข้ารับบริการเฉลี่ย 146 นาที เหลือเพียง 23 นาที กรณีไม่ได้ทำหัตถการใดๆ แต่ถ้าทำหัตการใช้เวลา 50 นาที ต่อ 1 ราย สร้างความสะดวกและพึงพอใจให้ผู้รับบริการอย่างมาก นอกจากนี้ ยังได้จัดระบบคลินิกโรคเรื้อรังในรพ.สต พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ในระดับปฐมภูมิ ให้มีพยาบาลเวชปฏิบัติ จัดระบบให้คำปรึกษากับแพทย์ ทั้งทางโทรศัพท์ และโปรแกรมไลน์ รวมทั้งจัดแพทย์ เภสัชกร หมุนเวียนไปตรวจรักษา แนะนำการใช้ยาทุกเดือน จัดระบบส่งต่อ-ส่งกลับที่มีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วย ตัดสินใจ ที่จะใช้บริการใกล้บ้าน โดยขณะนี้สามารถส่งผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่คุมอาการได้ดี ไม่มีโรคแทรกซ้อน ไปดูแลต่อที่ รพ.สต.ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองเครือข่าย ทั้ง 20 แห่ง ได้ถึงร้อยละ 60 ประชาชนเข้าถึงบริการสะดวก และมั่นใจในระบบบริการ ส่งผลให้ความพึงพอใจของผู้รับบริการในตึกผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 79 เป็นร้อยละ 89
สำหรับโรงพยาบาลเฝ้าไร่ เป็นโรงพยาบาลเปิดใหม่มีบริการเฉพาะผู้ป่วยนอก รับผิดชอบประชากร 5 หมื่นกว่าคน ตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อ ตุลาคม 2557 ถึง 31 มกราคม 2558 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการเกือบ 2 หมื่นราย เฉลี่ยวันละ 165 ราย และมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยเข้ารับบริการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นที่พึ่งของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล นับเป็นตัวอย่างในการเพิ่มบริการเชิงรุกเข้าไปให้ในชุมชน ให้ความสะดวกในการเข้าถึงบริการ
******************************************20 กุมภาพันธ์ 2558
View 16
20/02/2558
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ