รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งสร้างกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นองค์กรต้นแบบความปลอดภัยทางถนน โดยเน้นป้องกัน 3 พฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นสาเหตุสำคัญของการบาดเจ็บและเสียชีวิต คือเมาไม่ขับ ไม่ขับรถซิ่ง และใช้อุปกรณ์นิรภัย คือหมวกกันน็อค หรือใช้เข็มขัดนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ขณะใช้รถ รวมถึงรถพยาบาลรับส่งผู้ป่วยทั่วไปและป่วยฉุกเฉิน มอบกรมควบคุมโรคจัดทำประกาศกระทรวงฯ ให้หน่วยงานในสังกัดทั้งส่วนกลางและภูมิภาคทุกแห่งปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ

     ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจร ซึ่งเป็นสาเหตุการบาดเจ็บเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ ของคนไทย องค์การอนามัยโลกรายงานมีคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรประมาณปีละ 26,000 ราย ติดอยู่ในอันดับ 3  ของโลก และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นความเสี่ยงของคนไทยทุกคน รวมทั้งบุคลากรสาธารณสุขด้วย ในการแก้ไขปัญหาระดับประเทศ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้บูรณาการการทำงานร่วมกันหลายกระทรวง ทั้งคมนาคม มหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสาธารณสุข เพื่อลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งได้ทำงานร่วมกันในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 ที่ผ่านมา พบว่าประสบผลสำเร็จระดับหนึ่ง จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตลดลง ส่วนหนึ่งมาจากการมีส่วนร่วมของชุมชน พบว่าชุมชนที่มีการตั้งด่านชุมชน/จุดสกัดคนเมาอย่างจริงจัง จะส่งผลให้ลดการเจ็บและตายได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ จึงควรเสริมความเข้มแข็งการมีส่วนร่วมของชุมชนและให้ตั้งด่านชุมชน/จุดสกัดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้พื้นที่มีการจัดการข้อมูล ทั้งการจัดเก็บและการนำไปใช้ประโยชน์ สามารถบอกถึงสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง จุดเสี่ยง ทำให้แก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด และมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

     ศ.นพ.รัชตะกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี การดำเนินการลดอุบัติเหตุจะต้องทำตลอดทั้งปี ไม่ใช่เฉพาะช่วงเทศกาล กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะองค์กรที่ดูแลสุขภาพประชาชน มีนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นองค์กรต้นแบบความปลอดภัยทางถนน ให้หน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศจัดทำมาตรการขององค์กรเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทุกคนยึดเป็นแนวปฏิบัติ เน้นการป้องกัน 3 พฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นสาเหตุสำคัญการบาดเจ็บและเสียชีวิต คือเมาไม่ขับ ไม่ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด และส่งเสริมให้ใช้อุปกรณ์นิรภัยขณะขับขี่รถ เพื่อลดอันตรายความรุนแรงหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ได้แก่ สวมหมวกกันน็อคในผู้ใช้รถจักรยานยนต์ และคาดเข็มขัดนิรภัยในกรณีใช้รถยนต์ และหวังว่าจะเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อขยายผลต่อไป โดยมอบให้กรมควบคุมโรค จัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน เสนอที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขในเดือนมีนาคม 2558 เพื่อประกาศให้หน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศ ยึดเป็นแนวทางในการปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

     นอกจากนี้ จะสร้างมาตรฐานความปลอดภัยของรถพยาบาล เนื่องจากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อย ตลอดปี 2557 มีรถพยาบาลรับส่งผู้ป่วยและรถพยาบาลฉุกเฉิน เกิดอุบัติเหตุระหว่างนำส่งผู้ป่วย 54 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 106 ราย เสียชีวิต 19 ราย เจ้าหน้าที่บางรายกลายเป็นผู้พิการ ในจำนวนนี้เป็นรถพยาบาลฉุกเฉิน 26 ครั้ง และรถพยาบาลในระบบส่งต่อ 28 ครั้ง อุบัติเหตุร้อยละ 80 เกิดขึ้นขณะนำส่งผู้ป่วยไปสถานพยาบาล ได้มอบให้กรมควบคุมโรค สำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และเขตสุขภาพ ร่วมกันพัฒนาคุณภาพพนักงานขับรถพยาบาลทุกจังหวัด มีระบบตรวจประเมินมาตรฐานความปลอดภัยรถพยาบาล ให้ทุกสถานพยาบาลทำประกันภัยรถพยาบาลให้ครอบคลุมบุคลากรภายในรถด้วย รวมทั้งให้มีการสอบสวนกรณีรถพยาบาลประสบอุบัติเหตุทุกราย และกรณีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประสบอุบัติเหตุต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต นอกจากนี้ ยังให้โรงพยาบาลจัดมาตรการเสริมด้านความปลอดภัยให้บุคลากรที่อยู่เวรบ่าย-ดึก ซึ่งอาจเหนื่อยล้าหรือง่วงนอน เช่นจัดที่พักให้พักก่อนขับรถกลับบ้าน เป็นต้น

กุมภาพันธ์5/5 *************************** 22 กุมภาพันธ์ 2558
 



   
   


View 17    22/02/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ