รัฐบาลเปิดยุทธศาสตร์บูรณาการ 7 กระทรวงและองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ ร่วมแก้ไขปัญหาวัยรุ่นและสตรีตั้งครรภ์ไม่พร้อมพ.ศ.2558-2567 ตั้งแต่การให้ความรู้เพศศึกษาป้องกันจนถึงการดูช่วยเหลือกรณีที่ต้องยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย มีคลินิกวัยรุ่นบริการปรึกษา คุมกำเนิดฟรี ตั้งเป้าลดปัญหาลงให้ได้ครึ่งหนึ่ง เผยสถิติล่าสุดปี 2556 มีวัยรุ่นอายุน้อยกว่า 20 ปีคลอดบุตรสูงถึง 130,000 กว่าคน และมีเด็กอายุ 10 ปีคลอด 60-70 คน
วันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2558) ที่โรงแรมกรีนเนอรี่ จังหวัดนครราชสีมา ศ.นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมเครือข่ายเพื่อแก้ไขปัญหา การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น สตรีท้องไม่พร้อม และการแท้งที่ไม่ปลอดภัย จัดโดยมูลนิธิเพื่อสุขภาพและสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ของสตรี (แห่งประเทศไทย) ร่วมกับแพทยสภา ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายงานอนามัยวัยรุ่น เขตสุขภาพที่ 9 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการให้บริการวัยรุ่นและสตรีที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดยมีแพทย์ พยาบาล และผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุมกว่า 300 คน
ศ.นายแพทย์รัชตะกล่าวว่า แม้ว่าไทยเป็นประเทศที่ประสบผลสำเร็จในการวางแผนครอบครัว เป็นที่ยอมรับนานาชาติ อัตราการเจริญพันธุ์ลดจาก 6.4 คน เป็น 1.6 คน ปี 2556 ก็ตาม แต่ปัจจุบันกำลังประสบปัญหาอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นสูงเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย ส่วนหนึ่งเกิดจากเด็กเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็วขึ้น และความทันสมัยของเทคโนโลยีที่ง่ายต่อการเข้าถึงสื่อที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยง มีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้นและไม่ได้ป้องกันสูงถึงร้อยละ 50 เนื่องจากขาดความรู้ในการคุมกำเนิด เข้าใจผิดว่ามีเพศสัมพันธ์ครั้งเดียวไม่ตั้งครรภ์ หรือหากใช้ถุงยางอนามัยจะขัดขวางความรู้สึกทางเพศ ส่งผลทำให้เกิดปัญหาทั้งติดกามโรคและตั้งครรภ์ตามมา ในพ.ศ.2556 ร้อยละการคลอดบุตรในแม่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมาจากร้อยละ 14 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 17 ในพ.ศ. 2556 จำนวน 130,000 กว่าคน ที่น่าสลดใจกว่านั้น พบว่าประเทศไทยมีเด็กหญิงอายุ 10 ขวบ คลอดบุตรปีละประมาณ 60-70 คน เนื่องจากเข้าไม่ถึงบริการทางเลือกและหากต้องการยุติการตั้งครรภ์ก็เข้าไม่ถึงบริการที่ปลอดภัย หรือถูกเจ้าหน้าที่แนะนำให้ตั้งครรภ์ต่อ วัยรุ่นหรือผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม จะมีความเครียดสูงกว่าการตั้งครรภ์ในหญิงที่มีความพร้อมหลายเท่าตัว ส่งผลต่อสุขภาพเด็ก เช่นน้ำหนักตัวน้อย ขาดสารอาหาร เนื่องจากแม่ขาดการเอาใจใส่ดูแล นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการทำแท้ง โดยร้อยละ 40 เป็นนักเรียนนักศึกษา และร้อยละ 60 อายุต่ำกว่า 25 ปี และไม่ได้คุมกำเนิดสูงถึงร้อยละ 70 มีแนวโน้มยุติการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองสูงขึ้น โดยซื้อยาทำแท้งจากร้านขายยา หรืออินเตอร์เน็ต ทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่นใช้ยาผิดขนาด อาจเสี่ยงอันตรายเสียชีวิตได้ จึงเป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันป้องกันแก้ไข
ศ.นายแพทย์รัชตะกล่าวต่อว่า รัฐบาลชุดนี้ ได้ให้ความสำคัญการส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ และเร่งจัดระบบป้องกันแก้ไขปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์ เน้นการบูรณาการทำงานใกล้ชิด 7 กระทรวง เนื่องจากปัญหาและการแก้ไขต้องเชื่อมโยงกัน ได้แก่ สาธารณสุข พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศึกษาธิการ วัฒนธรรม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาดไทย กระทรวงแรงงาน และองค์กรเอกชน โดยได้จัดทำยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแบบบูรณาการ พ.ศ. 2558-2567 มี 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การเสริมสร้างทักษะชีวิตและเพศศึกษารอบด้านแก่วัยรุ่น 2.การเสริมสร้างบทบาทครอบครัวและชุมชนร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหา 3.จัดให้มีระบบบริการสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพและเป็นมิตร โดยกระทรวงสาธารณสุขเปิดคลินิกวัยรุ่นในโรงพยาบาล 541 แห่ง ให้บริการให้คำปรึกษา ระบบการส่งต่อ บริการคุมกำเนิดฟรี เมื่อวัยรุ่นมีความจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์จะได้รับสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกับผู้มีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาตรฐานสากล จะขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศและขยายลงถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเพื่อบริการในชุมชน
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดทำโครงการป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำในแม่วัยรุ่น เนื่องจากในปี2556 พบวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี ตั้งครรภ์ซ้ำมากถึง 15,295 คน โดยจัดทำโครงการถุงยางอนามัยแห่งชาติ ให้ประชาชนเข้าถึงทุกกลุ่ม ซึ่งจะแจกถุงยางอนามัย 53.7 ล้านชิ้น เฉพาะกลุ่มวัยรุ่นแจก 37 ล้านชิ้น เพื่อป้องกันทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกโรคและการตั้งครรภ์ด้วย และให้วัยรุ่นได้เข้าถึงการคุมกำเนิดกึ่งถาวร ทั้งยาฝังคุมกำเนิดและห่วงอนามัย
ยุทธศาสตร์ที่ 4 จัดให้มีระบบช่วยเหลือดูแลและบำบัดฟื้นฟูให้สวัสดิการทางสังคมแก่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์และคลอดบุตร 5.มีการสื่อสารและส่งเสริมการสร้างภูมิคุ้มกันทางวัฒนธรรม ค่านิยมทัศนคติที่เหมาะสม และ6.จัดกลไกเชื่อมประสาน ขับเคลื่อนนโยบาย กำกับติดตามเฝ้าระวัง ประเมินผล ระดับประเทศและพื้นที่ โดยตั้งเป้าหมายลดอัตราการคลอดในวัยรุ่นลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 50
**************************************** 25 กุมภาพันธ์ 2558