กระทรวงสาธารณสุข แนะลูกเรือและผู้โดยสาร ที่เดินทางร่วมเที่ยวบินเดียวกับผู้ป่วยโปลิโอชาวปากีสถาน คือทีจี 506 จากเมืองละออร์ ประเทศปากีสถานมาไทย ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2550 โอกาสเสี่ยงติดโรคโปลิโอมีน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่มีภูมิต้านทาน แต่เพื่อความมั่นใจ กระทรวงสาธารณสุขจะให้บริการหยอดวัคซีนป้องกันโรคให้ฟรี โดยขอรับบริการได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐใกล้บ้าน ตามที่ได้มีข่าวปรากฏในสื่อมวลชน ภายหลังการตรวจสอบพบว่า มีนักศึกษาชายชาวปากีสถานป่วยเป็นโรคโปลิโอ และนั่งเครื่องบินสายการบินไทยเที่ยวบินที่ ทีจี 506 จากเมืองละฮอร์ ประเทศปากีสถาน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2550 เวลา 23.40 น. ตามเวลาประเทศปากีสถาน ไปยังประเทศออสเตรเลีย และเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทย ประมาณ 1 ชั่วโมง และโดยสารเครื่องบินสายการบินไทย เที่ยวบินที่ ทีจี 999 ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 และในวันที่ 4 เดือนเดียวกัน ผู้ป่วยมีอาการมาก จึงได้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลของประเทศออสเตรเลีย แพทย์ได้ส่งตรวจอุจจาระ พบว่าติดเชื้อโปลิโอ สายพันธุ์ที่ 1 (Polio type 1) ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า หลังทราบเรื่อง กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานกับองค์การอนามัยโลก เพื่อขอทราบประวัติการป่วยของผู้ป่วยรายนี้ และประสานกับด่านตรวจคนเข้าเมืองและสายการบินไทย เพื่อขอทราบรายละเอียดของผู้โดยสารทั้ง 2 เที่ยวบินดังกล่าว ข้อมูลเบื้องต้นได้รับรายงานว่า เที่ยวบิน 506 มีผู้โดยสาร 166 คน เป็นชาวต่างชาติ 163 คน เป็นคนไทย 3 คน ส่วนเที่ยวบิน 999 ขณะนี้ประเทศออสเตรเลียได้ดำเนินการควบคุมป้องกันโรคแก่ผู้โดยสารแล้ว นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาความเสี่ยง โอกาสที่ผู้โดยสารอื่นที่เดินทางในเครื่องบินลำเดียวกับผู้ป่วย จะติดโรคโปลิโอในกรณีนี้มีน้อยมาก เนื่องจากระหว่างการเดินทางผู้ป่วยชาวปากีสถาน ไม่ได้ถ่ายอุจจาระบนเครื่องบิน เพียงแต่ล้างมือและล้างหน้า และระหว่างพักเปลี่ยนเครื่องก็ไม่ได้เข้าห้องน้ำ และไม่ได้ออกมานอกสนามบิน แต่อย่างไรก็ตามเพื่อความมั่นใจ กระทรวงสาธารณสุขยินดีให้บริการหยอดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอให้กับลูกเรือทุกคน และผู้โดยสารทั้งคนไทยและต่างชาติ ที่เดินทางมาพร้อมกับเที่ยวบินทีจี 506 ขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง เตรียมพร้อมวัคซีนโปลิโอ เพื่อให้บริการฟรีแล้ว สามารถไปใช้บริการที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐใกล้บ้านได้ วัคซีนดังกล่าวจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคโปลิโอให้สูงขึ้นไปอีก ไม่มีผลเสียแม้ว่าจะเคยได้รับมาแล้ว ด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสโปลิโอ ซึ่งผู้ได้รับเชื้อ มากกว่าร้อยละ 99 ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้โดยไม่มีอาการเจ็บป่วย ในผู้ที่มีอาการ เชื้อไวรัสจะทำให้มีอันตรายต่อระบบประสาทไขสันหลัง ผู้ป่วยอาจมีอาการแขนขาอ่อนแรง กล้ามเนื้อลีบ เป็นอัมพาต ในรายที่รุนแรงอาจเสียชีวิตได้ เชื้อจะอยู่ในลำไส้ ติดต่อกันทางอุจจาระที่ติดมาจากมือหรือปนเปื้อนในน้ำและอาหารที่รับประทานเข้าไป จากกรณีนี้กรมควบคุมโรคได้จัดทำข้อแนะนำสำหรับผู้โดยสารและลูกเรือ ที่เดินทางในเครื่องบินลำเดียวกับผู้ป่วยทั้ง 2 เที่ยวบิน เกี่ยวกับความรู้โรคโปลิโอและการป้องกัน โดยแนะนำให้ไปรับวัคซีนโปลิโอเพิ่มอีก 1 ครั้ง และให้สังเกตอาการป่วยของตนเอง หากมีอาการไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ภายใน 1 เดือน หลังจากเดินทางโดย 2 เที่ยวบินนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ และบอกให้ทราบว่าโดยสารเครื่องบินเที่ยวเดียวกับผู้ป่วยโรคโปลิโอ ในการนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มีจดหมายแจ้งโดยตรงไปยังผู้โดยสารและลูกเรืออีกทางหนึ่ง นายแพทย์ธวัช กล่าวต่อว่า สำหรับโรคโปลิโอนั้น คนไทยส่วนมากมีภูมิคุ้มกันโรคจากธรรมชาติ และจากวัคซีนป้องกันที่หยอดเมื่อตอนเด็กมาอยู่แล้ว และกระทรวงสาธารณสุขมีระบบเฝ้าระวังผู้ป่วยสงสัยโรคโปลิโอเป็นอย่างดี โดยยังไม่พบผู้ป่วยโรคนี้ในไทยติดต่อกันจนถึงขณะนี้ เป็นเวลา 10 ปี และทุกปีได้รณรงค์หยอดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอในกลุ่มเสี่ยง ทั้งเด็กไทยและต่างด้าวที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ปีละ 2 ครั้งพร้อมกันทั่วประเทศ ********************************* 20 กรกฎาคม 2550


   
   


View 5    20/07/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ