รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เผยเด็กไทย พัฒนาการเฉลี่ยต่ำกว่ามาตรฐานเกือบร้อยละ 30 ระดับไอคิวของเด็กไทยไม่ถึง 100ต่ำกว่ามาตรฐาน เร่งรัดสร้างเสริมพัฒนาการเด็ก เน้นดูแลต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ในครรภ์มารดาไปจนกระทั่งเติบโตเข้าสู่วัยเรียน พัฒนาศูนย์เด็กเล็กคุณภาพเพื่อช่วยกระตุ้นพัฒนาการ  พร้อมส่งทีมหมอครอบครัวดูแลมารดา ทารก และเด็กเล็ก ให้ได้รับบริการด้านสุขภาพอย่างครบถ้วน ร่วมดูแลพัฒนาการเด็กร่วมกับครอบครัว ครูพี่เลี้ยง และคัดกรองหากลุ่มเสี่ยงด้านพัฒนาการ เพื่อให้ได้รับการแก้ไขทันที

วันนี้ (6 มีนาคม 2558ศ.นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ เปิดการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรม เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กแบบมีส่วนร่วมของชุมชน  ในเครือข่ายบริการสุขภาพที่ 11 พร้อมมอบโล่ศูนย์เด็กเล็กคุณภาพดีเด่นระดับเขต  2 แห่งคือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดสถิตโพธาราม เทศบาลต.อ่าวลึก อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านทุ่งรัก อ.คุระบุรี จ.พังงา  หลังจากนั้นเดินทางไปเยี่ยมคลินิกส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 11 และศึกษาดูงานส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลศาลาบางปู อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช

                ศ.นายแพทย์รัชตะ กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนเป็นวาระสำคัญระดับชาติ  คุณภาพของประชากรจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะคุณภาพของเด็กปฐมวัย อายุ 0-5 ปี หากได้รับการปลูกฝังและสร้างรากฐานที่ดีตั้งแต่เล็ก จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ไม่สร้างปัญหาและเป็นภาระแก่สังคม เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่ต้องร่วมมือกันกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น และชุมชน ดูแลสร้างเสริมและพัฒนาศักยภาพประชากร โดยดูแลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนเข้าสู่วัยเรียน โดยการดูแลเด็กปฐมวัยของไทย ช่วงอายุ0-2 ปี จะอยู่ในการดูแลของผู้ปกครอง และช่วงอายุ 3-5 ปี จะส่งเข้าสถานรับเลี้ยงเด็ก เช่น โรงเรียนอนุบาล หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีอยู่ 2 หมื่นกว่าแห่ง มีเด็กเกือบแสนคน และครูพี่เลี้ยง5 หมื่นกว่าคน ซึ่งหากเด็กที่ไปอยู่ในศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพ ก็จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีได้

ศ.นายแพทย์รัชตะกล่าวต่อว่าผลสำรวจพัฒนาการเด็กของกรมอนามัยในปี2553 พบว่าเด็กไทย มีพัฒนาการเฉลี่ยต่ำกว่ามาตรฐานเกือบร้อยละ 30 และผลการสำรวจของกรมสุขภาพจิตในปี 2554 พบว่าระดับไอคิวของเด็กไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 98.89 ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานที่ 100 ต้องเร่งสร้างนวตกรรมใหม่ๆเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยให้เติบโตสมวัยยิ่งขึ้น โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้สร้างและขยายทีมหมอประจำครอบครัว เป็นอีกกลไกหนึ่งในระดับชุมชนที่นำมาปรับใช้เพื่อดูแลมารดา และทารก ให้ได้รับบริการด้านสุขภาพอย่างครบถ้วน และเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ครูผู้ดูแลเด็กในศูนย์เด็กเล็ก ด้านสุขภาพและคัดกรองส่งต่อ หากพบเด็กที่มีความเสี่ยงจะมีพัฒนาการล่าช้าหรือไม่สมวัย

สำหรับเขตสุขภาพที่ 11 ประกอบด้วย กระบี่  ชุมพร นครศรีธรรมราช  พังงา ภูเก็ต  ระนอง และสุราษฎร์ธานี  ในปี 2556 เด็กแรกเกิดถึง 5 ปี มีพัฒนาการสมวัย ร้อยละ 93  ได้ดำเนินการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการครอบคลุมต่อเนื่อง อย่างมีคุณภาพ แบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าให้ได้รับบริการส่งเสริมพัฒนาการอย่างมีคุณภาพ รวมถึงการส่งเสริมศักยภาพของครอบครัวในการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กโดยการใช้ คู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยปกติ และคู่มือประเมินและส่งเสริมพัฒนาการเด็กกลุ่มเสี่ยง 

ด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ศูนย์เด็กเล็กคุณภาพ  คือ  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ผ่านเกณฑ์การประเมินด้านกระบวนการ 6 ด้าน  ซึ่งได้แก่ ด้านบุคลากร การเจริญเติบโต และอนามัยช่องปาก  ด้านพัฒนาการและการเรียนรู้  ด้านป้องกันควบคุมโรคติดต่อ การจัดสภาพแวดล้อม  และด้านการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน รวมถึงผ่านเกณฑ์ผลลัพธ์  4  ด้าน  คือ เด็กมีพัฒนาการสมวัยไม่น้อยกว่าร้อยละ 85  เด็กมีส่วนสูงระดับระดับดี  และรูปร่างสมส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 เด็กมีฟันน้ำนมผุไม่เกินร้อยละ  57  และเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าได้รับการส่งต่อทุกคน ขณะนี้ทั่วประเทศมีศูนย์เด็กเล็กคุณภาพจำนวน9001แห่ง โดยจะเร่งรัดให้ผ่านเกณฑ์เป็นศูนย์เด็กเล็กคุณภาพทั้งหมด 

สำหรับศูนย์เด็กเล็กคุณภาพดีเด่นระดับเขต 2 แห่ง คือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านทุ่งรัก ได้รับความร่วมมือจากชุมชนและท้องถิ่น โดยมีศูนย์สามวัยจาก ชมรมผู้สูงอายุฯ มาเล่านิทาน ให้ความรู้ แก่เด็ก มีนวัตกรรมสื่อการสอนจากชีวิตประจำวัน เช่น สอนการล้างมือ 7 ขั้นตอน โดยใช้ “นิทานนิ้วมือ” เชื่อมโยงเครือข่าย เช่น และอำเภอจัดการสุขภาพด้านแม่และเด็ก พัฒนาคลังปัญญาผู้สูงอายุในชุมชนและเป็นศูนย์การเรียนรู้แก่เด็ก เช่น สถานที่และของใช้ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น และเฝ้าระวังภาวะโภชนาการเด็กโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน

และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดสถิตโพธาราม ได้จัดกิจกรรมโรงเรียนพ่อแม่ สร้างนวัตกรรมมุ้งครอบใส่ห่วงใยสุขภาพเพื่อป้องกันยุงและแมลงกัด เฝ้าระวังป้องกันและส่งเสริมทันตสุขภาพในเด็กโดยการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขศูนย์เด็กและครอบครัว สร้างพฤติกรรมการชอบกินผักโดยการมีส่วนร่วมของเด็กและผู้ปกครองซึ่งมีการปลูกผักในศูนย์เด็กเล็ก   และนำมาปรุงอาหาร และสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและผู้สูงอายุผ่านการสอนทำขนมพื้นบ้าน

                                                                                   *******************************  มีนาคม  2558

 



   
   


View 13    10/03/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ