รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชื่นชมสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดระบบดูแลผู้สูงอายุครอบคลุมทั้งจังหวัด  เน้นกลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่ม ได้แก่ ผู้สูงอายุติดเตียง ผู้พิการที่ต้องการการดูแล ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง กลุ่มโรคเรื้อรัง และกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช  ด้วยทีมหมอครอบครัว 1149 ทีม มีรถโมบายหมอครอบครัว ใช้สมาร์โฟน เชื่อมกับโปรแกรมเยี่ยมบ้านของจังหวัด

        ศ.นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมการดำเนินงานทีมหมอครอบครัวจังหวัดสุราษฏร์ธานี และตรวจเยี่ยมผู้สูงอายุติดเตียง ที่ชุมชนท่าสะท้อน อ.พุนพิน จ.สุราษฏร์ธานี ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมพร้อมการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพื่อดูแลให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรง ตั้งเป้าให้คนไทยมีค่าเฉลี่ยอายุไม่น้อยกว่า 80 ปี โดยมีสุขภาพดีไม่น้อยกว่า 70 ปี   ได้กำหนดแนวทางการดูแลผู้สูงอายุ 3 ด้าน ได้แก่ 1.การตรวจคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ เพื่อประเมินนำไปสู่การวางแผนดูแล คัดกรองทั้งความสามารถในการช่วยเหลือตัวเอง โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ 2.การพัฒนาระบบบริการเชื่อมโยงระบบดูแล การส่งต่อ ตั้งแต่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ถึงโรงพยาบาลชุมชน/ โรงพยาบาลจังหวัด เริ่มที่โครงการหมอครอบครัว  ที่ปีแรกเน้นดูแลสุขภาพผู้สูงอายุติดเตียง ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ และจะขยายไปไปดูแลทุกคนในครอบครัว 3.การเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว เพื่อการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว

          “ตั้งเป้าให้ผู้สูงอายุ อายุยืน มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขกับเวลาที่เพิ่มขึ้น จึงมีกระบวนการหลายอย่างที่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เช่น ผู้สูงอายุที่สุขภาพดี มีสังคม จะมีการดูแลด้วยการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้สูงอายุอื่นๆ ด้วยกิจกรรมต่างๆ ส่วนผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มติดบ้าน ไม่แข็งแรง มีโรคประจำตัวไม่อยากออกจากบ้านไปไหน ก็จะมีระบบช่วยประคับประครองให้แข็งแรงเท่าที่จะทำได้  สำหรับผู้สูงอายุกลุ่มติดเตียง ผู้พิการ อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจเคลื่อนไหวไม่สะดวก ต้องการดูแลเฉพาะ ก็จะมีทีมหมอครอบครัวเข้าไปช่วยดูแลให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ให้ความมั่นใจว่า คนไทยทุกคนจะไม่ถูกทอดทิ้ง แม้ว่าจะเคลื่อนไหวไม่ได้ มารับบริการที่โรงพยาบาลไม่ได้ แม้จะอยู่คนเดียวญาติไม่มีเวลาดูแล” ศ.นายแพทย์รัชตะกล่าว

          สำหรับจังหวัดสุราษฏร์ธานี มีจำนวนผู้สูงอายุ  123,250 คน เป็นผู้สูงอายุช่วยเหลือตัวเองได้ ติดสังคม 112,384 คน ช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง 8,675คน ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ 2,191คน ได้ดำเนินการพัฒนาเรื่องระบบการดูแลผู้ป่วยตามมาตรฐาน มีเครือข่ายร่วมดูแลสุขภาพทั้งสาธารณสุข ท้องถิ่น และประชาชน ครอบคลุมทุกมิติการป้องกันส่งเสริม รักษา ฟื้นฟู แบบองค์รวม รวมทั้งมีระบบส่งต่อทุกระดับ ให้ทุกครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดี  โดยมีทีมหมอครอบครัวระดับอำเภอ 72 ทีม ระดับตำบล 280 ทีมและระดับชุมชน 797 ทีม  เน้นกลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่ม ได้แก่ ผู้สูงอายุติดเตียง ผู้พิการที่ต้องการการดูแล ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง กลุ่มโรคเรื้อรัง และกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช   ทำงานเชิงรุก ด้วยรถโมบายทีมหมอครอบครัว ( Mobile FCT) ทุกอำเภอ ออกให้บริการและประชาสัมพันธ์ มีช่องทางการสื่อสารของแต่ละทีมทุกระดับตั้งแต่ระดับชุมชน ตำบลและอำเภอ  จัดทำฐานข้อมูลโดยใช้สมาร์โฟน เชื่อมกับโปรแกรมเยี่ยมบ้านทั้งจังหวัด ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการในหลายอำเภอ เช่น อ.พุนพิน คีรีรัฐนิคม กาญจนดิษฐ์ เป็นต้น นอกจากนี้ จัดทำสมุดบันทึกการเยี่ยม ข้อมูลการให้คำปรึกษา การรับส่งต่อ  สร้างความพึงพอใจให้กับกลุ่มผู้ป่วยและญาติเป็นอย่างยิ่ง เป็นของขวัญปีใหม่ที่เข้าถึงและตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง        

                                        ************ 8 มีนาคม 2558



   
   


View 18    08/03/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ