กระทรวงสาธารณสุข ย้ำประชาชน ประเทศไทย ไม่มีโรคไข้กาฬหลังแอ่นแพร่ระบาด ไทยพบผู้ป่วยประปราย น้อยมากปีละ 20-30 ราย แนวโน้มลดลงเรื่อยๆ โรคนี้ติดต่อกันยากและมียารักษาให้หายขาด แนะวิธีให้ป้องกันโรค คือ พักผ่อนออกกำลังกาย หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ หากสงสัยป่วย เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน มีรอยผื่นเลือดออกใต้ผิวหนัง หรือสงสัยว่าสัมผัสกับผู้ป่วย ควรรีบไปพบแพทย์ หรือสอบถามสายด่วนกรมควบคุมโรค 1442

           จากกรณีที่พบหญิงกัมพูชา ป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้กาฬหลังแอ่น ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2558 นั้น ความคืบหน้าในเรื่องนี้ วันนี้ (มีนาคม 2558) นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า โรคไข้กาฬหลังแอ่น ไม่ใช้โรคใหม่ พบได้ทั่วโลกเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่าไนซีเรีย มินิงไจติดีส (Neisseria meningitides) สถานการณ์ในประเทศไทย ขณะนี้พบได้น้อยมาก ซึ่งเป็นผลมาจากระบบการควบคุมป้องกันที่ดี พบผู้ป่วยประปรายปีละ 20-30 ราย ในช่วง 5 ปีหลังนี้ พบน้อยกว่า 20 ราย เสียชีวิตประมาณ 2 ราย ประชาชนจึงไม่ต้องวิตกกังวล กรณีที่มีชาวกัมพูชาป่วยและเสียชีวิตที่จ.ฉะเชิงเทรานั้น กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรา สระแก้ว และประสานงานกับสำนักอนามัย กทม. ออกสอบสวน ติดตามเฝ้าระวังผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้เสียชีวิต เพื่อควบคุมป้องกัน การแพร่เชื้อไว้ทั้งหมดแล้ว โดยเฝ้าระวังอาการเป็นเวลา 10 วัน ตามระบบ โรคนี้มียาป้องกันและมียารักษาหายขาด     

          ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้เฝ้าระวังโรคไข้กาฬหลังแอ่นต่อเนื่อง จำนวนผู้ป่วยลดลง ไม่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน ในปี 2558 นี้ สำนักระบาดวิทยารายงาน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.12 ก.พ. 2558 พบมีผู้ป่วยทั่วประเทศ 2 ราย ที่ปัตตานี และกรุงเทพมหานคร ไม่มีผู้เสียชีวิต โรคนี้ติดต่อได้โดยการสัมผัสใกล้ชิด ทางน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่งต่างๆของผู้ป่วย อาการป่วยคือ เริ่มจาก มีไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน ชัก คอแข็ง เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่จะมีจุดเลือดออกใต้ผิวหนังเป็นจุดแดงทั่วตัว ต่อมาเปลี่ยนเป็นจุดสีคล้ำ จนกลายเป็นสะเก็ดสีดำ จึงเรียกว่าไข้กาฬหลังแอ่น เชื้อมีระยะฟักตัว 2-10 วัน นานสุด 11วัน   

           “โรคไข้กาฬหลังแอ่นเป็นได้กับคนทุกกลุ่มอายุ มักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมักเป็นกลุ่มที่สุขอนามัยไม่ดี ร่างกายอ่อนแอ มีภูมิต้านโรคน้อย โรคนี้ติดต่อกันยาก ยกเว้นคนใกล้ชิด รักษาหายได้มียาฆ่าเชื้อ ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่มีใช้ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ” นายแพทย์โสภณกล่าว

          นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า ในการป้องกันโรค ประชาชนต้องพักผ่อนออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและควรหมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ ผู้ที่มีอาการไอ ไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคใดๆก็ตาม ต้องคาดหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันเชื้อแพร่กระจายไปสู่คนอื่นๆ โรคนี้มักมีการระบาดในบางพื้นที่ เช่น ที่ตะวันออกกลางหรือแอฟริกา หากจำเป็นต้องเดินทางในเขตที่มีการระบาด ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคก่อนเดินทาง  ทั้งนี้หากประชาชนที่สงสัยอาจสัมผัสกับผู้เสียชีวิต มีอาการป่วย มีไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน มีรอยผื่นเลือดออกใต้ผิวหนัง ควรรีบไปพบแพทย์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422   

 ********************************* 8 มีนาคม 2558​



   
   


View 15    09/03/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ