รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ประกอบการและแรงงานที่ทำงานในหลุมลึก อุโมงค์ ระวังน็อกเพราะขาดอากาศหายใจ ล่าสุดพบแรงงานโรงงานหน่อไม้ดองที่จังหวัดราชบุรี ประสบเหตุหมู่หมดสติ 8 คน เหตุเกิดเย็นวานนี้ แพทย์ต้องใส่ท่อใช้เครื่องช่วยหายใจ 6 ราย เสียชีวิตแล้ว 1 ราย ยังวิกฤติน่าห่วงเป็นตายเท่ากัน อีก 2 ราย เพราะเนื้อสมองตาย ระดมแพทย์ช่วยชีวิตเต็มที่ พร้อมทั้งเตรียมมาตรการป้องกัน ชี้รอบ 4 ปีที่ผ่านมาเคยเกิดขึ้นแล้ว 8 ครั้ง จากกรณีที่มีข่าวคนงานโรงงานลำดวนหน่อไม้ดอง ตั้งอยู่ที่หมู่ 10 ต.อ่างทอง อ.เมือง ราชบุรี จำนวน 8 คน ตกลงไปในบ่อหน่อไม้ดอง และหมดสติจากการสูดแก๊สที่เกิดจากการหมักหน่อไม้ แพทย์หน่วยฉุกเฉินโรงพยาบาลราชบุรี ได้ช่วยชีวิตและนำส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชบุรีเป็นการด่วน เหตุเกิดเมื่อเย็นวานนี้ (21 กรกฎาคม 2550) นั้น ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว บ่ายวันนี้ (22 กรกฎาคม 2550) ที่โรงพยาบาลราชบุรี นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้อำนวยการสำนักระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เดินทางไปเยี่ยมอาการผู้ป่วยที่โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี นายแพทย์มงคลให้สัมภาษณ์ว่า ได้เดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุแล้ว พบว่าสาเหตุที่มีผู้หมดสติหลายคน เนื่องจากลงไปช่วยคนงานที่หมดสติในบ่อหมักหน่อไม้ มีความกว้าง 3 เมตร ลึกประมาณ 3 เมตร ซึ่งบ่อที่มีความลึกนั้นจะมีก๊าซอ็อกซิเจนจำนวนน้อยมาก ทำให้ขาดอากาศหายใจ และหากมีก๊าซพิษอื่นๆ อยู่ด้วยก็จะทำให้หมดสติได้รวดเร็ว สรุปแล้วจากเหตุการณ์ครั้งนี้ มีคนงานหมดสติทั้งหมดจำนวน 8 คน อาการสาหัส แพทย์ต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ 6 คน ในจำนวนนี้ มี 3 คนหัวใจหยุดเต้น แพทย์ต้องปั๊มหัวใจเพื่อทำการช่วยฟื้นคืนชีพ ขณะนี้ผู้ป่วยทั้งหมดอยู่ในการดูแลของแพทย์ และคาดว่าผู้ป่วย 3 คนที่ฟื้นคืนชีพ อาจมีภาวะสมองบวม ได้สั่งการให้ระดมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายแผนกให้การดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มความสามารถ และให้การรักษาฟรี ล่าสุดเช้าวันนี้ (22 กรกฎาคม 2550) มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 คน คือ นายพิน รักษาเชื้อ อายุ 47 ปี และอาการหนัก 2 คน นอนรักษาตัวในห้องไอซียู ได้แก่ นาย พิพัฒน์ ประเทืองผล บุตรชายเจ้าของโรงงาน อายุ 30 ปี ซึ่งหัวใจหยุดเต้นตั้งแต่เกิดเหตุ ขณะนี้สมองตาย ไม่รู้สึกตัว และนายแง แรงงานชาวพม่า ระบบหายใจล้มเหลว ทั้ง 2 รายนี้ถือว่าอาการอยู่ในขั้นวิกฤติน่าห่วงเป็นตายเท่ากัน แพทย์ให้การดูแลใกล้ชิด ส่วนผู้ป่วยที่เหลืออีก 5 คน ประกอบด้วย 1. นายสุพจน์ จันทร์แปลง อายุ 26 ปี 2. นายเรียง ประเทืองผล เจ้าของโรงงาน อายุ 57 ปี 3. นายบัณฑิตย์ ประเทืองผล บุตรชายเจ้าของโรงงาน อายุ 34 ปี 4. นายอาว และ 5. นาย เพชร แรงงานชาวพม่า อาการดีขึ้น ยังมีอาการทางระบบหายใจ คาดว่าจะสามารถถอดเครื่องช่วยหายใจได้ภายใน 1 – 2 วันนี้ นายแพทย์มงคลกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขพบเคยเกิดเหตุขึ้นบ่อยๆ และทำได้เพียงการแก้ไขที่ปลายเหตุ โดยข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา ระหว่างปี 2546 - 2549 พบเกิดเหตุการณ์ขึ้น 8 ครั้ง ในกลุ่มคนงานขณะลงไปทำงานในบ่อลึก ที่ราชบุรี ขอนแก่น สมุทรปราการ กำแพงเพชร นครราชสีมา อ่างทอง และระยอง มีผู้เสียชีวิต 24 คน และบาดเจ็บประมาณ 30 คน ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 9 ส่วนใหญ่เกิดจากขาดมาตรการในการป้องกันควบคุมความปลอดภัยในการทำงาน ส่วนสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตหมู่เนื่องจากลงไปให้การช่วยเหลือคนที่หมดสติที่ก้นบ่อซึ่งมีออกซิเจนน้อยอยู่แล้ว ดังนั้นเพื่อการป้องกันและแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้อีก กระทรวงสาธารณสุขได้มอบให้สำนักโรคจากการประกอบอาชีพ กรมควบคุมโรค ประสานการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงแรงงาน เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบโดยเร็ว ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้แรงงานเหล่านี้หมดสติ คาดว่าเกิดจากก๊าซพิษหลายชนิดที่เกิดจากการหมักหน่อไม้ดอง ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์(Hydrogensulfide) หรือที่รู้จักว่าก๊าซไข่เน่า ก๊าซซัลเฟอร์ไดอ็อกไซด์ (Sulferdioxide) ก๊าซมีเทน และก๊าซไซยาไนด์ ซึ่งก๊าซเหล่านี้มีน้ำหนักมากกว่าก๊าซอื่น ก๊าซเหล่านี้จะลงไปแทนที่ออกซิเจนในอากาศที่อยู่ก้นบ่อและมีน้ำหนักเบากว่า ทำให้มีปริมาณอ็อกซิเจนน้อยกว่าปกติ ผู้ที่ลงไปทำงานจึงขาดอากาศหายใจ ทำให้หมดสติ ซึ่งเป็นไปได้ทั้งขาดอากาศหายใจหรือสูดก๊าซพิษ ในกรณีนี้จะผ่าชันสูตรศพเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต และกระทรวงสาธารณสุขได้เก็บตัวอย่างหน่อไม้ และเลือดจากผู้ป่วยส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่าเกิดจากการได้รับก๊าซพิษชนิดใด หรือเกิดจากภาวะขาดออกซิเจนเพียงอย่างเดียว คาดว่าจะทราบผลใน 1 -2 วันนี้ ทั้งนี้ อันตรายของก๊าซพิษหลังสูดเข้าไป ก๊าซจะเข้าไปทำลายถุงลม เยื่อหุ้มปอด ทำลายเนื้อปอด ทำให้ปอดอักเสบและมีน้ำท่วมปอด การรักษามักจะใช้วิธีประคับประคองอาการ ใส่เครื่องช่วยหายใจ และให้ยาต้านการอักเสบของปอด จนกว่าปอดจะกลับมาทำงานปกติและไม่มีก๊าซสะสมอยู่ในร่างกาย ก๊าซพิษจะถูกขับออกกับลมหายใจได้เอง แต่หากเกิดจากการขาดอ็อกซิเจน มักจะเสียชีวิตในที่เกิดเหตุหรือในภายหลังจากภาวะสมองตาย อย่างไรก็ตามในวันนี้ กรมควบคุมโรคได้ส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคในที่อับอากาศ และเจ้าหน้าที่ลงไปสอบสวนโรคที่โรงงานหน่อไม้ดองดังกล่าว เพื่อตรวจวัดปริมาณก๊าซที่อยู่ในบ่อและชนิดของก๊าซพิษแล้ว ******************************** 22 กรกฎาคม 2550


   
   


View 5    22/07/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ