รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นปัญหาการตายของคนไทยอันดับต้นๆพบเสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าววันละกว่า 200 ราย เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลวันละกว่า 48,000 ราย มีแนวโน้มสูงขึ้นเหตุจากการใช้ชีวิตไม่ระวังเลียนแบบชาวตะวันตกมีคนไทยเสี่ยงไม่ต่ำกว่า 38 ล้านคน รณรงค์สร้างกระแสให้หันมาดูแลตัวเองตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง วันนี้ (23 กรกฎาคม 2550) ที่ห้องประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศ.นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการการอำนวยการและคณะกรรมการดำเนินการรณรงค์พัฒนาการสื่อสาร เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงประชาชนในการป้องกันและควบคุมโรคหัวใจและหลอดเลือด ตามโครงการ ตามรอยเท้าพ่อ...พอดี...พอเพียง...เนื่องในวันหัวใจโลก ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 30 กันยายน 2550 นายแพทย์มงคล ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันสถานการณ์ ของกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดสมองส่วนปลาย กำลังทวีความรุนแรง เป็นภัยคุกคามสุขภาพคนไทยตัวฉกาจ และกำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างน่าวิตก จะต้องร่วมมือกันเร่งแก้ไขป้องกัน โดยเน้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต้นเหตุ ขจัดความเสี่ยงลงให้ได้มากที่สุด ที่สำคัญ 3 เรื่องคือการกิน การออกกำลังกาย และลดการบริโภคบุหรี่ เหล้า จากการรายงานขององค์การอนามัยโลกปี 2548 มีประชากรโลกเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด เกือบ 18 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 30 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดและจากรายงานขององค์การอนามัยโลกในปี 2549 ยังพบว่า ร้อยละ 80 ของโรคหัวใจ อัมพาต เบาหวานชนิดที่ 2 และร้อยละ 40 ของโรคมะเร็ง สามารถป้องกันได้ด้วยการบริโภคอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่และดื่มเหล้า คาดว่าในปี 2553 โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายหลักของคนในประเทศกำลังพัฒนาด้วย สำหรับประเทศไทย การเสียชีวิตจากกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดติดอันดับ 1 ใน 3 มาตลอดตั้งแต่ พ.ศ. 2526 และมีแนวโน้มเพิ่มมาก ในปี 2548 พบคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดวันละกว่า 200 คน และมีผู้ป่วยนอกมารับบริการในโรงพยาบาลของรัฐวันละมากกว่า 48,000 คน และต้องรับตัวนอนรักษาในโรงพยาบาลวันละ 2,182 คน เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาถึงร้อยละ 15 – 20 ของค่าใช้จ่ายการรักษาทั้งหมดของประเทศ นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า สาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่สำคัญ เกิดมาจากการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตในสังคม เป็นไปแบบตะวันตกมากขึ้น ขาดการระมัดระวัง และนึกถึงผลกระทบที่จะตามมา จากการสำรวจสภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 3 พบชายไทยร้อยละ 80 และหญิงไทยร้อยละ 75 รับประทานผัก ผลไม้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเสี่ยงทำลายหลอดเลือด ชายร้อยละ20 หญิงร้อยละ24 ออกกำลังกายไม่เพียงพอที่จะขจัดไขมันในตัวออกไป ชายร้อยละ 17 หญิงร้อยละ 2 ดื่มเหล้าเสี่ยงเกิดโรคเรื้อรัง และพบชายร้อยละ 46 หญิงร้อยละ 2 สูบบุหรี่เป็นประจำเพิ่มการทำลายสุขภาพ ทำให้กลุ่มประชากรที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคดังกล่าวมีอายุลดลงเรื่อยๆ คนจนก็มีสิทธิ์ป่วยได้เหมือนกัน หากปล่อยสถานการณ์เรื่อยๆ คนไทยในอนาคตจะมีสั้นลง หรือมีคนพิการมากขึ้น ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการป้องกันและควบคุมโรคดังกล่าวกระทรวงสาธารณสุขได้น้อมนำแนวทางพระราชดำริปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้ ตามโครงการ “ตามรอยเท้าพ่อ พอดี พอเพียง” เพื่อขจัดความเสี่ยงที่ฝังตัวอยู่ในวิถีชีวิตทุกวันลดลง โดยจะรณรงค์ตลอดปี 2550 เพื่อสร้างกระแสให้ประชาชนรับรู้ ตระหนักถึงความเสี่ยงจากการดำเนินชีวิตประจำวันแบบตามใจตัวเอง หันมาปรับทัศนคติปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ถูกต้อง เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมการดำเนินไปของโรคให้เหมาะสมกับแต่ละวัย โดยผ่านทางสื่อต่างๆ ที่เหมาะสมและเข้าถึงประชาชน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ องค์กรต่างๆ และจะรณรงค์อย่างจริงจัง นำร่องใน 20 จังหวัด ได้แก่ อ่างทอง สระบุรี สิงห์บุรี ฉะเชิงเทรา ประจวบคีรีขันธ์ นครราชสีมา ของแก่น สกลนคร นครสวรรค์ พิษณุโลก ตาก เชียงใหม่ ภูเก็ต ตรัง พังงา สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี ระยอง ราชบุรี และนครปฐม ใน 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มเด็กและเยาวชนในโรงเรียน กลุ่มผู้ใช้บริการในสถานบริการสุขภาพที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด และกลุ่มวัยทำงาน ............................................. 23 กรกฎาคม 2550


   
   


View 18    23/07/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ