รัฐบาลผลักดันสถาบันพระบรมราชชนก เป็นนิติบุคคลในกำกับกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มความเข้มแข็งในการผลิตพยาบาลและบุคลากรสาธารณสุขระดับปริญญาและต่ำกว่าปริญญา โดยเน้นรับคนจากชนบท เรียนจบแล้วส่งกลับไปทำงานในโรงพยาบาลและสถานีอนามัยตามภูมิลำเนา คาดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้ในวันพุธที่ 25 กรกฎาคมนี้ คงจะหนุนอย่างเต็มที่ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สถาบันพระบรมราชชนก เป็นหน่วยงานระดับสำนัก ดูแลวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี และวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร ทั่วประเทศรวม 38 แห่ง ผลิตบุคลากรให้กระทรวงสาธารณสุขมานาน 60 ปี รวมกว่า 2 แสนคน ปัจจุบันมีอาจารย์ 1,841 คน จบปริญญาเอก 97 คน ปริญญาโท 1,239 คน ปริญญาตรี 427 คน มีนักศึกษา 20,577 คน ในจำนวนนี้เป็นนักศึกษาปริญญาตรี ร้อยละ 85 ได้รับงบประมาณอุดหนุนการผลิตปีละประมาณ 1,500 ล้านบาท ที่ผ่านมา สถาบันพระบรมราชชนกไม่สามารถประสาทปริญญาได้เอง ต้องไปสมทบเพื่อรับปริญญาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ อาจารย์มีข้อจำกัดเพราะเป็นข้าราชการพลเรือน เติบโตได้ไม่เกินระดับ 8 และไม่สามารถขึ้นตำแหน่งทางวิชาการได้ แตกต่างจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วไป ทำให้รักษาคณาจารย์ที่มีคุณภาพไว้ได้ยาก ทั้งๆ ที่ต้องทำงานหนัก ต้องรับนักเรียนจากชนบทเข้าเรียนเพื่อส่งกลับไปทำงานในชนบท เช่น โครงการผลิตพยาบาล 3,000 คน จาก 5 จังหวัดชายแดนใต้ วิทยาลัยพยาบาลในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนกก็คือผู้ผลิตเอง “พ.ร.บ.สถาบันพระบรมราชชนก จะทำให้สถาบันเป็นนิติบุคคล ในรูปองค์กรในกำกับกระทรวงสาธารณสุข สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่สนับสนุนให้หน่วยงานที่มีศักยภาพผลิตบุคลากรในสาขาเฉพาะทางที่ถนัด สามารถเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นนิติบุคคลได้ การมีพ.ร.บ.นี้ จะทำให้สถาบันมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ไม่ติดข้อจำกัดของระบบราชการ อาจารย์มีความก้าวหน้า และนักศึกษาจะได้ปริญญาของสถาบันเอง ซึ่งมีสภาวิชาการและสภาสถาบันดูแลคุณภาพและมาตรฐานได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ส่วน กระทรวงสาธารณสุขยังคงทำหน้าที่อุดหนุนงบประมาณ เพราะผลิตคนให้กระทรวงฯ เพื่อบริการประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งยังคงกำกับดูแลได้อย่างใกล้ชิด” นายแพทย์มงคลกล่าว นายแพทย์มงคล กล่าวต่อว่า จุดแข็งของสถาบันพระบรมราชชนกคือ การรับนักเรียนจากชนบทเข้าศึกษาในวิทยาลัย 38 แห่ง ที่กระจายอยู่ใน 27 จังหวัดทั่วประเทศ ถือเป็นการให้โอกาสและอนาคตทางการศึกษาแก่เด็กในชนบท โดยมีโรงพยาบาลและสถานีอนามัยเป็นแหล่งฝึกงานที่มีความใกล้ชิด ทำให้นักศึกษาได้เรียนกับของจริง เมื่อจบออกไปจึงสามารถทำงานในส่วนภูมิภาคได้อย่างดี เรียกได้ว่ามีความเป็นเลิศทางการปฏิบัติ (Competency excellency) การเสนอให้มีพ.ร.บ.สถาบันพระบรมราชชนกครั้งนี้ คาดว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะให้การสนับสนุน เพราะถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป จะแก้ปัญหาสมองไหลของคณาจารย์ไม่ได้ เนื่องจากมีทางเลือกที่ก้าวหน้ากว่าหากโอนไปอยู่มหาวิทยาลัย สถาบันก็จะไม่สามารถผลิตกำลังคน สนองความต้องการของกระทรวงสาธารณสุขและประชาชนในชนบทได้ โดยปัจจุบัน วิทยาลัยในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก ผลิตบุคลากร 3 ระดับคือ ระดับปริญญาตรี เช่น การพยาบาลและการสาธารณสุข ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ได้แก่ การแพทย์แผนไทยประยุกต์ และระดับประกาศนียบัตร 2 ปี มี 8 หลักสูตร เช่น การสาธารณสุขชุมชน ทันตสาธารณสุข เวชกิจฉุกเฉิน เป็นต้น ในปี 2549 ได้ผลิตบุคลากรทุกหลักสูตรรวม 7,085 คน ******************************* 23 กรกฎาคม 2550


   
   


View 5    23/07/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ