ประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข หนุนร่างพระราชบัญญัติสถาบันพระบรมราชชนก ให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล ทำหน้าที่ผลิตกำลังคนด้านสุขภาพ ให้สธ. เป็นไปตามความต้องการโดยตรง สอดคล้องเจตนารมณ์การปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่หนุนหน่วยงานที่มีความถนัด สามารถผลิตบุคลากรได้เอง ไม่ได้ผลิตบุคลากรสายงานอื่นแต่อย่างใด นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า หลักการและเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลเสนอร่างพระราชบัญญัติสถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ. .... เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวันพุธที่ 25 กรกฎาคม 2550 นี้ เพื่อที่จะให้สถาบันพระบรมราชชนก ซึ่งเป็นหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข มีวิทยาลัยพยาบาลและวิทยาลัยการสาธารณสุข 38 แห่ง ทำหน้าที่ผลิตและพัฒนาคนให้กระทรวงสาธารณสุข ได้รับการยกฐานะเป็นนิติบุคคล ในรูปขององค์กรในกำกับของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะมีระบบบริหารจัดการที่คล่องตัวกว่าการเป็นราชการแบบเดิม มีสภาสถาบันและสภาวิชาการ ดูแลด้านวิชาการและด้านการจัดการศึกษา สามารถประสาทปริญญาได้เอง และคณาจารย์มีความก้าวหน้าในตำแหน่งทางวิชาการได้ สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการศึกษา ที่ปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ท่านผู้หญิงปรียา เกษมสันต์ ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ได้ประชุมศึกษาและพิจารณาร่างพ.ร.บ.สถาบันพระบรมราชชนกที่รัฐบาลเสนอแล้ว เห็นว่าสมควรให้การสนับสนุน เพราะจะทำให้สถาบันพระบรมราชชนก รวมทั้งวิทยาลัยพยาบาลและวิทยาลัยการสาธารณสุขในสังกัด 38 แห่ง ซึ่งผลิตคนให้กับกระทรวงสาธารณสุขมา 50-60 ปีแล้ว สามารถทำหน้าที่นี้ต่อไปได้อย่างมีคุณภาพดีกว่าเดิม บริหารจัดการได้คล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น คณาจารย์มีความก้าวหน้าได้ใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัย โดยยังคงผลิตและพัฒนาคน สนองความต้องการของกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลักเหมือนเดิม ที่สำคัญคือ ยังคงเน้นรับเด็กจากชนบทเข้าศึกษา เพื่อส่งกลับไปทำงานตามภูมิลำเนา เป็นการกระจายโอกาสทางการศึกษา และแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรในชนบท ซึ่งนับว่าเป็นจุดแข็งของสถาบันพระบรมราชชนก ด้านนายแพทย์สุริยะ วงศ์คงคาเทพ อดีตผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชชนก กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่มีการข้อสังเกตว่า ร่างพ.ร.บ.สถาบันพระบรมราชชนก อาจทำให้สถาบันแห่งนี้ขยายไปผลิตบุคลากรสาขาอื่นๆ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์นั้น เรื่องนี้ขอยืนยันว่าไม่ใช่เจตนารมณ์ของสถาบันพระบรมราชชนกและกระทรวงสาธารณสุข เพราะสถาบันนี้มุ่งเน้นผลิตกำลังคนด้านสุขภาพสนองความต้องการของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ซึ่งก็เป็นไปตามแนวคิดของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ส่งเสริมสนับสนุนให้หน่วยงานที่มีความถนัดและมีศักยภาพ สามารถผลิตบุคลากรในด้านนั้นๆ ได้เอง ทั้งระดับปริญญาหรือต่ำกว่าปริญญา จึงไม่ควรไปผลิตสาขาอื่นนอกเหนือความถนัดของตนเอง ดังนั้น ในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ สามารถปรับปรุงร่างพ.ร.บ.นี้ให้รัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้มีปัญหาตามข้อกังวลข้างต้นได้ต่อไป ********************************** 24 กรกฎาคม 2550


   
   


View 5    24/07/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ