โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีการกินเพื่อป้องกันไม่ให้โรคหัวใจหลอดเลือดเยือน ควรลดอาหารประเภทผัดๆ ทอดๆ และกะทิ และเพิ่มกินอาหารประเภทต้ม แกงไม่ใส่กะทิ นึ่ง ย่าง ยำ อบ น้ำพริกผักจิ้ม ควรกินผักให้ได้วันละไม่ต่ำกว่า 6 ทัพพี ระบุผลวิจัยล่าสุดคนไทยร้อยละ 78 กินผักผลไม้ไม่พอต่อการป้องกันโรค นายสง่า ดามาพงษ์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุขและนักวิชาการสาธารณสุข 9 กรมอนามัย ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นเพชฌฆาตเงียบคร่าชีวิตคนไทยไม่ต่ำกว่าวันละ 200 คนว่า สาเหตุความเสี่ยงโรคนี้ เกิดมาจากกินอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม มาก กินผักผลไม้น้อยเกินไป และเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ทำให้ไขมันสะสมในร่างกาย และอุดตันตามหลอดเลือดต่างๆ ทำให้เกิดการตีบตันในที่สุด นายสง่ากล่าวว่า อาหารที่ส่งเสริมให้กิน เพื่อป้องกันการป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ อาหารประเภทต้ม นึ่ง ย่าง ยำ อบ โดยเฉพาะอาหารที่ไม่ใส่กะทิ เช่น แกงจืด แกงเลียง แกงส้ม ต้มยำ น้ำพริกผักจิ้ม โดยเฉพาะผักนั้น เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมาก ช่วยในการขับถ่ายให้เป็นปกติทุกวัน ทำให้กากอาหารไม่บูดเน่าตกค้างในลำไส้ แล้วใยอาหารจะไปดูดซับเอาไขมัน น้ำตาล และสารก่อมะเร็งออกกจากร่างกาย ปกติควรกินให้ได้วันละ 6 ทัพพี หรือประมาณ 240 กรัม ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมการกินของประชาชน โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขเมื่อพ.ศ.2547 พบข้อมูลน่าตกใจ พบว่าคนไทยกินผักผลไม้ต่ำกว่ามาตรฐานถึงร้อยละ 78 เฉลี่ยกินผักเพียงวันละ 1 ทัพพี พบในผู้ชายร้อยละ 81 ผู้หญิงร้อยละ 76 อาหารที่ไม่แนะนำให้กิน หรือให้กินได้แต่ต้องปริมาณน้อยได้แก่ อาหารประเภทผัดและทอด ซึ่งคนไทยยุคปัจจุบันนิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากอาหารเหล่านี้ใช้น้ำมันมาก ซึ่งกรมอนามัยแนะนำให้กินน้ำมันได้วันละไม่เกิน 5-9 ช้อนชา เช่นการกินข้าวไข่เจียวหมูสับแค่จานเดียวจะได้น้ำมัน 4 ช้อนชา ฉะนั้นหากจะกินอาหารประเภทผัดก็ควรใช้น้ำมันแต่น้อย นายสง่ากล่าวต่อว่า พฤติกรรมที่คนไทยต้องปรับแก้ ก็คือการใส่เครื่องปรุงรสในอาหาร โดยไม่ชิมก่อน ที่พบบ่อยเช่นการปรุงรสก๋วยเตี๋ยวน้ำ แค่เหยาะน้ำปลาลงไปอีก 1-2 ช้อนโต๊ะ จะได้โซเดียมสูงถึง 1630 มก. ซึ่งทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ ในวันหนึ่งๆควรกินเกลือไม่เกินวันละ 2400 มก. หรือไม่เกินวันละ 1 ช้อนชา หากเป็นน้ำปลาต้องไม่เกินวันละ 4 ช้อนชา และต้องฝีกนิสัยชิมอาหารทุกครั้งก่อนเติมเครื่องปรุงรส นอกจากนี้แนะนำให้กินผลไม้รสไม่หวานจัด เป็นอาหารว่างแทนการกินขนมหวาน เช่น หากกินขนมหม้อแกง ขนาดชิ้นละประมาณ 150 กรัม จะมีน้ำตาล 9 ช้อนชา ให้พลังงานสูงถึง 138 แคลอรี่ กินน้ำอัดลม 1 กระป๋อง มีค่าเท่ากับกินน้ำเปล่าใส่น้ำตาล 15 ช้อนชา โดยเฉลี่ยขณะนี้คนไทยกินน้ำตาลวันละ 20 ช้อนชา ซึ่งฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นเกือบ 3 เท่าตัวที่กำหนดให้ไม่ควรเกินวันละ 6-8 ช้อนชา การปรับพฤติกรรมลดหวาน ลดเค็ม ต้องเริ่มฝึกตั้งแต่เด็ก ทั้งนี้วิธีการกินที่จะให้มั่นใจว่าเรากินผักครบครบตามมาตรฐานคือ 6 ทัพพีต่อวัน ขอให้ใช้หลักการประเมินง่ายๆตามมื้ออาหารที่กินใน 1 วัน เช่นตอนเช้ากินข้าวกับผัดคะน้าและไข่ตุ๋นใส่ฝักทองและแครอท ก็จะได้ผักประมาณ 2 ทัพพี มื้อกลางวันกินก๋วยเตี๋ยวใส่ผักกวางตุ้ง ถั่วงอก จะได้ผักประมาณ 1 - 2 ทัพพี มื้อเย็นกินข้าวกับแกงเลียงและปลานึ่งผักจิ้มแจ่ว จะได้ผักอีกประมาณ 2-3 ทัพพี ก็จะครบ 6 ทัพพี ใน 1 วัน แต่ยังไม่พอที่ร่างกายจะได้ใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ จึงต้องกินผลไม้เพิ่มวันละประมาณ 4 ส่วน เช่นมื้อเช้ากินฝรั่งครึ่งผล มื้อกลางวันกินส้ม 1 ผล และมะละกอ 6 ชิ้นคำ รวมกับการกินผักก็จะได้ประมาณวันละ 400 – 500 กรัม กรกฎาคม 9/2 ******************************************** 26 กรกฎาคม 2550


   
   


View 8    26/07/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ