กระทรวงสาธารณสุขจับมือ สปสช.ตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลที่ขาดสภาพคล่องทั้งหมด ประกอบด้วยโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย กันดาร และพื้นที่ที่มีประชากรน้อยกว่าพื้นที่อื่น เพื่อวางระบบแก้ไขป้องกันให้เบ็ดเสร็จ บริการประชาชนได้ต่อเนื่อง
 
 นายแพทย์อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับระบบการแก้ปัญหาโรงพยาบาลในสังกัดที่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีมาตรการระยะเร่งด่วนที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยขณะนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ได้โอนเงินเหมาจ่ายรายหัวไปยังหน่วยบริการ ครบทุกเขตสุขภาพแล้ว กว่า 39,700 ล้านบาท
 
 ทั้งนี้ในเดือนมีนาคม 2558 ได้โอนเงินค่าตอบแทนไปยังหน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขโดยครอบคลุมหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย และหน่วยบริการที่ประสบปัญหาสภาพคล่องจำนวน 3,000 ล้านบาท และสำหรับโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่กันดาร และพื้นที่เสี่ยงภัย จำนวน 137 แห่ง จำนวน 464 ล้านบาทแล้ว  
 
 นายแพทย์อำนวยกล่าวต่อไปว่า คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังได้อนุมัติเงินในการปรับเกลี่ยในระบบของหน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 599 ล้านบาทไปยังเขตสุขภาพ 3 เขต ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 1,2 และ12 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ในเขตภาคเหนือและภาคใต้ มีโรงพยาบาลตามชายแดนและแบกรับปัญหาค่าใช้จ่ายในการรักษาประชาชนที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยที่ต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ความไม่สงบ จำเป็นที่จะต้องมีบุคลากรมากกว่าหน่วยบริการภาคอื่นโดยเฉพาะพยาบาลซึ่งได้มีการจัดสรรเพิ่มมากกว่าพื้นที่อื่นถึง 3,000 ตำแหน่ง ทำให้มีภาระจากการเพิ่มตำแหน่งประมาณ 624 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีมติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2557 ขอใช้งบประมาณกลางช่วยเหลือเพิ่มเติม ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ
 
อย่างไรก็ดี ในการแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลที่ขาดสภาพคล่อง ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งคณะกรรมการร่วมกัน 1 ชุด โดยมีอาจารย์นวพร เรืองสกุล เป็นประธานคณะกรรมการ เพื่อวิเคราะห์สาเหตุที่มาของปัญหาการขาดสภาพคล่อง และจัดกลุ่มให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ทุรกันดาร จำนวน 137 แห่งที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนเป็นการเฉพาะ และโรงพยาบาลที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เหล่านี้ แต่เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องเช่นกันได้แก่ พื้นที่ที่มีประชากรเบาบางกว่าพื้นที่อื่นๆ คณะกรรมการชุดดังกล่าว จะดูข้อมูลการเงินการบัญชี การจัดการ วางระบบแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับโรงพยาบาลที่มีปัญหาในระยะยาวและเบ็ดเสร็จขึ้น เพื่อให้คลายความกังวลให้ผู้ทำงานในพื้นที่ สามารถจัดบริการประชาชนทุกคนได้อย่างเต็มศักยภาพและมีคุณภาพ 
 
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขและสปสช.จะมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ทั้งในระดับส่วนกลาง และในระดับเขต เพื่อวางแผนร่วมกันในการพัฒนาระบบข้อมูลการเงิน การบัญชีทั้งในระยะสั้นและวางระบบระยะยาวให้สมบูรณ์แบบ เพื่อสนับสนุนการบริการของสถานบริการทั่วประเทศ
   
**************************************  26 เมษายน 2558
 


   
   


View 17    26/04/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ