กระทรวงสาธารณสุขไทย เตรียมลงนามความร่วมมือพัฒนาการสาธารณสุขร่วมกับประเทศอาร์เจนตินา ในช่วงกลางเดือนหน้านี้ เนื่องจากอาร์เจนตินามีระบบการดูแลสุขภาพประชาชนที่ดีมาก เช้าวันนี้ ( 26 กรกฎาคม 2550 ) ที่กระทรงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้การต้อนรับ นายฟิลิเป้ ฟริดแมน ( H.E.Felipe Frydman ) เอกอัครราชทูตอาร์เจนตินาประจำประเทศไทย ที่เข้าพบเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐอาร์เจนตินาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทยและคณะ เพื่อเข้าร่วมประชุมนานาชาติเรื่องการพัฒนาด้านสุขภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายตามคำประกาศสหัสวรรษโดยเน้นด้านสิทธิด้านสุขภาพของประชาชน( Millennium Declaration ) ซึ่งจะประชุมที่กรุงบัวโนส ไอเรส ระหว่างวันที่ 13-19 สิงหาคม 2550 โดยระหว่างนั้นจะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจวาด้วยความร่วมมือการพัฒนาด้านสาธารณสุขระหว่างไทยกับอาร์เจนตินาด้วย ภายหลังหารือนายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า ไทยมีความร่วมมือทางด้านสาธารณสุขกับประเทศอาร์เจนตินาเป็นเวลานาน แต่ยังไม่มีการลงนามความร่วมมือกันอย่างจริงจัง และนับเป็นโอกาสอันดีที่ระหว่างวันที่ 13-19 สิงหาคม 2550 ทีจะมีการประชุมเพื่อพัฒนาการสาธารณสุขที่ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ก็จะถือเป็นโอกาสอันดีที่จะมีการลงนามความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศอาร์เจนตินา เพราะอาร์เจนตินามีหลายเรื่องที่น่าสนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีระบบการดูแลสุขภาพประชาชนที่ดีมาก นายแพทย์มงคล ว่า อาร์เจนตินาเป็นประเทศใหญ่ ใหญ่กว่าไทย 4 เท่า แต่มีประชากรเพียง 38 ล้านคน คน โดยอยู่ในชนบทเพียงแค่ 10 ล้านคน ระบบการเกษตรกรรมของอาร์เจนตินาดำเนินการในรูปแบบบริษัท มีที่ปรึกษา มีประธาน มีนักกฎหมาย มีนักวิชาการ ต่างจากระบบการเกษตรไทยซึ่งยังเป็นระดับชาวนา และพึ่งเกษตรธรรมชาติ แต่ที่อาร์เจนตินา มีการวิจัยและพัฒนาก้าวหน้าถึงขั้นการใช้ ดัดแปลงพันธุกรรมหรือ จีเอ็มโอ ที่เพิ่มผลิตผลทางการเกษตรมากถึง 4-5 เท่า เนื่องจากไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง ดินไม่ถูกทำลายให้เสียคุณค่า ส่วนผลกระทบของ จีเอ็มโอ ต่อสุขภาพนั้น อาร์เจนตินากล่าวว่ายังไม่พบผลกระทบต่อผู้บริโภค ทั้งนี้นอกจากจะมีความร่วมมือแลกเปลี่ยนเพื่อพัฒนาการสาธารณสุขแล้ว ยังสนใจที่จะศึกษาการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรโดยใช้เทคนิค จีเอ็มโอ ด้วย รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งไทยเคยมีวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ.2540 เช่นเดียวกับทางอาร์เจนตินา ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2544 แต่ใช้เวลาฟื้นตัวเพียง 4 ปี โดยใช้วิธีลดค่าเงินลงมาจากเดิมลงถึง 4 เท่าตัว ทำให้จำหน่ายผลผลิตได้มาก จึงสามารถฟื้นได้ในเวลารวดเร็ว แต่ช่วงที่ไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเป็นช่วงที่ประเทศอื่นก็แย่ด้วย ทำให้เราฟื้นได้ช้า จึงน่าศึกษามากในเรื่องการบริหารจัดการเรื่องค่าเงินในการฟื้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ไม่เกี่ยงกับสาธารณสุขโดยตรง แต่คิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่เราต้องนำมาศึกษาต่อไป นายแพทย์มงคล กล่าว กรกฎาคม9/6 *********************************** 26 กรกฎาคม 2550


   
   


View 26    26/07/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ