รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้คนไทยเป็นโรคมะเร็งเสียชีวิตปีละเกือบ 60,000 ราย สาเหตุใหญ่ส่วนหนึ่งมาจากอาหารการกินที่ปนเปื้อนสารพิษ หนุนให้ความรู้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมี ให้โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศเป็นศูนย์ตรวจสอบความปลอดภัยของอาหาร และให้รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดสารพิษ มาประกอบอาหารให้ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ วันนี้ (27 กรกฎาคม 2550) ที่สมาคมเกษตรกรก้าวหน้า อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมสัมมนาเกษตรกร และประชาชนจำนวนกว่า 500 คน เพื่อสร้างความปลอดภัยในกระบวนการผลิตอาหาร ตลอดห่วงโซ่อาหาร ตามโครงการความปลอดภัยของอาหาร จัดโดยคณะพันธมิตรร่วมขับเคลื่อนอาหารปลอดภัยแห่งประเทศไทย (ครอ.) ร่วมกับสมาคมเกษตรก้าวหน้า ซึ่งเป็นการทำงานร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับภาคเอกชน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกร ประชาชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในระบบห่วงโซ่อาหาร เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของอาหารปลอดภัย ตั้งแต่เกษตรกรผู้ผลิต จนถึงผู้บริโภคปลายทาง นายแพทย์วัลลภ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้บริโภคทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของการบริโภคอาหารที่ปลอดจากสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ต่างเข้มงวดต่อสินค้าที่นำเข้าจากประเทศต่างๆ ซึ่งประเทศไทยเองก็เป็นแหล่งผลิตอาหาร ที่ส่งผลผลิตทางการเกษตรไปยังตลาดโลกหลายชนิด ทั้งข้าว ผัก ผลไม้ ไก่แช่แข็ง อาหารทะเล เป็นต้น และที่ส่งออกมากและเป็นที่รู้จักทั่วโลกคือข้าวหอมมะลิไทย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรักษามาตรฐานการผลิตให้ปลอดภัยตามมาตรฐานโลก โดยกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้เกษตรกรใช้การผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีหรือยากำจัดศัตรูพืช ซึ่งมีปัญหาตกค้างเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทั้งนี้ปัญหาความไม่ปลอดภัยในอาหารหลักๆ เกิดขึ้นในขั้นตอนของการปลูก การผลิต การขนส่ง การแปรรูปและการปรุงก่อนขึ้นโต๊ะบริโภค “ขณะนี้ไทยเป็นประเทศที่มีการใช้สารเคมีเกษตรมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อมูลจากสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร รายงานว่า ในปีพ.ศ.2546 ปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีของไทยอยู่ที่ 3,952,356 ตัน ในจำนวนนี้เป็นปุ๋ยนำเข้า 3,837,787 ตัน คิดเป็นมูลค่า 25,747 ล้านบาท ส่วนสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่นำเข้าในปีเดียวกัน มีปริมาณรวม 50,331 ตัน คิดเป็นมูลค่า 11,341 ล้านบาท โดยนำเข้าสารกำจัดวัชพืชสูงที่สุด จำนวน 31,879 ตัน โดยรวมแล้วปริมาณการใช้สารเคมีในภาคเกษตรของไทยปีพ.ศ.2546 จึงไม่น้อยกว่า 4 ล้านตัน” นายแพทย์วัลลภกล่าว นายแพทย์วัลลภ กล่าวต่อไปว่า สารเคมีที่ใช้ในภาคเกษตรที่ตกค้างในผลผลิต ทั้งผัก ผลไม้ จะสะสมในร่างกายเรื่อยๆ โดยไม่มีอาการ และกลายเป็นมะเร็งในที่สุด ซึ่งขณะนี้คนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งทุกระบบปีละเกือบ 60,000 ราย เป็นทั้งในชนบทและคนเมือง จึงต้องเร่งแก้ไขป้องกัน โดยส่งเสริมให้เกษตรกรทั่วประเทศใช้ระบบผลิตแบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี นับเป็นต้นน้ำที่สำคัญมาก เป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหาร ที่จะช่วยผลักดันระบบอาหารปลอดภัยให้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะให้ โรงพยาบาลทั่วประเทศ ทำหน้าที่เป็นศูนย์ตรวจสอบความปลอดภัยอาหาร เพื่อการันตีความปลอดภัยประชาชนในแต่ละพื้นที่ ขณะเดียวกันจะให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดสารพิษ มาประกอบอาหารให้ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลอีกด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัว หายป่วยเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินงานตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารที่มาจากแหล่งผลิต ตั้งแต่ปี 2546 ผลการตรวจสอบล่าสุดในรอบ 6 เดือนของปี 2550 พบสารตกค้างขึ้นๆ ลงๆ โดยพบสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมูเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 พบยาฆ่าแมลงร้อยละ 2 มากที่สุดในผักชี ผักคะน้า พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า ผักกาดหอม ถั่วฝักยาว ผักกวางตุ้ง คึ่นช่าย นอกจากนี้ยังพบสารพิษอะฟลาทอกซิน จากเชื้อราในถั่วลิสง ถั่วลิสงป่น พริกแห้ง พริกป่น ร้อยละ 21 สำหรับกลุ่มอาหารแปรรูป มีสถานที่ผลิตอาหารได้มาตรฐานจีเอ็มพีร้อยละ 99 คาดว่าในเร็วๆ นี้จะครอบคลุมทั้งหมด ส่วนกลุ่มอาหารปรุงสำเร็จพร้อมจำหน่ายและตลาดสด ยังเหลืออีกประมาณร้อยละ 50 ที่ต้องเร่งปรับปรุงสุขลักษณะ ทั้งในเรื่องโครงสร้าง อุปกรณ์ปกปิดอาหาร ความสะอาดร่างกายของผู้ปรุง ผู้จำหน่ายอาหาร ซึ่งได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ รณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในการเลือกซื้อและบริโภคอาหาร พร้อมกวดขันตักเตือน และลงโทษผู้ประกอบการที่กระทำผิดแล้ว นายแพทย์วัลลภกล่าว *********************************** 27 กรกฎาคม 2550


   
   


View 7    27/07/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ