องค์การอนามัยโลก ยกย่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราโชบายให้กระทรวงสาธารณสุข เร่งค้นหาผู้ป่วยวัณโรครับการรักษาให้หายขาดฟรี ป้องกันเชื้อดื้อยา โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน เผยผลการประเมินงานควบคุมวัณโรคไทย ยังมีอัตราหายขาดต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานโลก เสนอไทยเพิ่มกลไกควบคุมวัณโรคอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งระดมความร่วมมือจากชุมชนและเครือข่ายกำกับการกินยาของผู้ป่วย เพื่อให้อัตราการรักษาหายขาดได้ตามเกณฑ์สากลร้อยละ 85 วันนี้ (27 กรกฎาคม 2550) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขนายแพทย์สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ประชุมสรุปผลการประเมินแผนงานควบคุมวัณโรคของประเทศไทย ร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญนานาชาติด้านวัณโรค 25 คน มีนายแพทย์เลียวโพล บลังค์ (Dr.Leopold Blance) ผู้อำนวยการด้านการกำจัดวัณโรค องค์การอนามัยโลก เป็นหัวหน้าทีมในระดับนโยบายระดับสูง และนายแพทย์ยัป บรืคแมนส์ (Dr.Jaab F. Broekmans) เป็นหัวหน้าคณะประเมินแผนงาน ซึ่งได้ประเมินสถานการณ์การควบคุมป้องกันวัณโรคของประเทศไทย 8 จังหวัดใหญ่ ในช่วงวันที่ 16-27 กรกฎาคม 2550 ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น อุดรธานี ชลบุรี ระยอง นครศรธรรมราช สุราษฎร์ธานี และกทม. นายแพทย์มงคลกล่าวว่า ขณะนี้ไทยมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ประมาณปีละ 91,000 ราย อยู่ในอันดับที่ 17 ในจำนวน 22 ประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคมากที่สุดในโลก ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ประมาณ 40,000 ราย และมีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตปีละ 5,000 – 7,000 คน ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงานอายุระหว่าง 15-44 ปี เป็นคนจน โดยเฉพาะคนที่อาศัยในชุมชนแออัดในกทม.และเขตเมืองใหญ่ ขณะนี้มีผู้ป่วยวัณโรคทั่วประเทศขึ้นทะเบียนรักษา 58,639 ราย มีอัตราการรักษาหายขาดประมาณร้อยละ 75 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้คือร้อยละ 85 นายแพทย์มงคลกล่าวต่อว่า จากการประเมินระบบการควบคุมวัณโรคของประเทศไทย คณะประเมินได้ให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนางานควบคุมวัณโรคของไทย โดยเน้นจัดระบบการประสานงานและการติดตามประเมินผลการทำงานวัณโรคอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครซึ่งมีประชากรหนาแน่น มีจำนวนประชากรมาก 1 ใน 6 ของประชากรทั้งประเทศ ควรแต่งตั้งผู้จัดการแผนงานควบคุมวัณโรคของกรุงเทพมหานคร ทำงานเต็มเวลา เพื่อให้การทำงานเป็นเอกภาพ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะเพิ่มความเข้มข้นในการค้นหาผู้ป่วย และติดตามการรักษาผู้ป่วยให้หายขาด โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม.ซึ่งมีกว่า 8 แสนคน มีส่วนร่วมในการค้นหาผู้ป่วยวัณโรค ซึ่งมักอยู่ในหมู่บ้าน ชุมชนแออัด พร้อมทั้งดูแลกำกับการกินยารักษาซึ่งต้องใช้เวลา 6 เดือนติดต่อกัน ส่วนในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลภาครัฐอื่นๆ ให้เน้นการส่งต่อผู้ป่วยกลับไปดูแลรักษาที่ชุมชน และจะให้กองการประกอบโรคศิลปะ ประสานโรงพยาบาลเอกชน คลินิกทั่วประเทศ หากพบผู้ป่วยหรือผู้ที่มีอาการน่าสงสัยว่าจะเป็นวัณโรค ให้รายงานที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งกทม. เพื่อที่จะสามารถติดตามรักษาให้หายขาดครบทุกคน เพราะในโครงการหลักการประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้การรักษาฟรีอยู่แล้ว รวมทั้งให้เข้มงวดเรื่องแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย ให้สามารถเข้าถึงการตรวจรักษาวัณโรคด้วย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและป้องกันเชื้อดื้อยา ด้านนายแพทย์เลียวโพล บลังซ์ (Dr.Leopold Blance) ผู้อำนวยการด้านการกำจัดวัณโรค องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า งานวัณโรคประเทศไทย จัดว่ามีความพิเศษกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระราโชบายสนับสนุนการควบคุมรักษาวัณโรค เปรียบเสมือนเป็นธงชัยของประเทศในการรณรงค์แก้ปัญหาวัณโรคให้เป็นผลสำเร็จ จึงเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ที่จะใช้ในการระดมความร่วมมือของชุนชนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ที่ไทยมีมากกว่าประเทศอื่น และการใช้ประโยชน์จากสถานีอนามัยและศูนย์สุขภาพชุมชน ซึ่งมีความครอบคลุมทุกหมู่บ้านอยู่แล้ว โอกาสสำเร็จจึงมีสูงมาก “การมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นอาวุธที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับวัณโรค อันจะส่งผลให้ประเทศสามารถพัฒนาสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในชาติได้อย่างรวดเร็ว” นายแพทย์เลียวโพลกล่าว ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยประสบปัญหาวัณโรคกลับมาแพร่ระบาดจากการระบาดของเชื้อเอดส์ ทำให้มีผู้ป่วยวัณโรคเพิ่มขึ้น และคาดว่ามีผู้ติดเชื้อ วัณโรคที่ยังไม่มีอาการป่วยอีกจำนวนมาก ซึ่งหากผู้ติดเชื้อเหล่านี้มีสุขภาพอ่อนแอ มีภูมิต้านทานโรคต่ำ หรือติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย ก็จะยิ่งทำให้ปัญหาวัณโรคทวีความรุนแรงขึ้น จึงได้ผสมผสานการดูแลผู้ป่วยวัณโรคกับโรคเอดส์ไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยวัณโรคร้อยละ 17 ติดเชื้อเอช ไอ วีร่วมด้วย และยังพบผู้ป่วยเอดส์ป่วยเป็น วัณโรคร้อยละ 30 ********************** 27 กรกฎาคม 2550


   
   


View 6    27/07/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ