กระทรวงสาธารณสุข ปรับปรุงพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ เป็นโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 2 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และลดความแออัดโรงพยาบาลมหาราชฯซึ่งมีผู้ใช้บริการวันละเกือบ 3,000 ราย ให้ประชาชนได้รับบริการที่รวดเร็ว ไม่ต้องรอคิวนาน วันนี้ (1 สิงหาคม 2550) นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย เปิดโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 2 ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งเดิมเป็นโรงพยาบาลให้บริการเฉพาะแม่และเด็ก ตั้งอยู่ที่หมู่ 6 ต.โคกกรวด อ.เมือง จังหวัดนครราชสีมา ให้บริการทั้งตรวจรักษาโรคทั่วไป และรับผู้ป่วยไว้รักษาได้ 30 เตียง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารทรัพยากรด้านสาธารณสุข ลดความแออัดโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์และเป็นศูนย์ผลิตแพทย์เพิ่มด้วย แต่ละวันมีผู้ป่วยมารับบริการตรวจที่โรงพยาบาลมหาราชวันละกว่า 2,800 ราย ต้องใช้เวลารอคิวแพทย์ตรวจนาน โดยได้จัดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ จากโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาให้บริการทุกวัน ทำให้ประชาชนที่อยู่ในตำบลโคกกรวดและใกล้เคียงกว่า 50,000 ราย ได้ใช้บริการใกล้บ้าน สะดวก รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า การเปิดโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 2 ในวันนี้ เป็นโครงการวิจัยปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขทุกระดับไปสู่ความเป็นเลิศ เนื่องจากจังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประชากร 2 ล้านกว่าคน แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถพัฒนาได้ เนื่องจากในอำเภอเมืองมีโรงพยาบาลมหาราชรองรับแห่งเดียว ภาระจึงตกหนัก ต้องกระจายบริการประชาชน โดยที่โรงพยาบาลมหาราชฯ แห่งที่ 2 นี้ มีบริการทุกสาขา ทั้งอายุรกรรม ศัลยกรรม สูติ-นรีเวช กุมารเวชกรรม จักษุวิทยา เช่น การผ่าตัดตาต้อกระจกเพื่อเปลี่ยนใส่เลนส์แก้วตาเทียม การดูแลผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อ หน่วยชันสูตรโรค และบริการด้าน ทันตกรรม โดยจะให้เป็นแหล่งศึกษาวิจัยรูปแบบของการดูแลผู้สูงอายุต้นแบบของประเทศไทย ขยายผลทั่วประเทศ ในการจัดบริการผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 6 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 10 ล้านคนในอีก 15 ปี ด้านนายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมา ได้จัดทำโครงการ 13 โครงการแก้ปัญหา ลดความแออัดและเพิ่มประสิทธิภาพบริการของผู้ป่วยที่อยู่ในเขตอำเภอเมือง โดยจะเปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่อีก 2 แห่งในปลายปีนี้ ที่เทศบาลตำบลหัวทะเลและเทศบาลนครราชสีมา โครงการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนที่อยู่ในเขตอำเภอเมือง 4 แห่ง โครงการพัฒนาระบบเครือข่ายศูนย์แพทย์ชุมชนเขตเมือง 2 แห่ง โครงการพัฒนาศูนย์ส่งต่อ-ส่งกลับผู้ป่วย โครงการพัฒนาศูนย์ตรวจวินิจฉัยโรค โครงการพัฒนาเครือข่ายคลินิกทันตกรรมภาคเอกชน โครงการพัฒนาเครือข่ายร้านขายยาคุณภาพเพื่อร่วมบริการ โครงการพัฒนาการบริหารเวชภัณฑ์รวม โครงการพัฒนาโรงพยาบาลกรุงเทพ-ราชสีมาเป็นศูนย์ร่วมบริการโรคสมองและโรคหัวใจ โครงการพัฒนาคลินิกบ้านเพื่อน กำหนดเสร็จสิ้นในปี 2553 คาดว่าจะสามารถลดจำนวนผู้ป่วยนอกที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาลงได้มาก นอกจากนี้ ยังสามารถพัฒนาศักยภาพเป็นศูนย์แพทย์เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ เป็นศูนย์กลางรองรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ต้องรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือแพทย์ไฮเทคได้อย่างแท้จริง ผู้รับบริการและผู้ให้บริการได้รับความสะดวกและมีความพึงพอใจ ****************** 1 สิงหาคม 2550


   
   


View 20    01/08/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ