รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แนวโน้มประเทศในกลุ่มยากจนถูกคุกคามจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้น เป็นภาระงบประมาณด้านสุขภาพของประเทศ ปรับแนวคิดใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสร้างสุขภาพ พร้อมพัฒนาศูนย์สุขภาพชุมชน เป็นด่านหน้าสร้างสุขภาพและความเข้มแข็งชุมชน ลดต้นทุนด้านสุขภาพในอนาคต
เช้าวันนี้ (2 สิงหาคม 2550) ที่โรงแรมอมรินทร์ลากูน จังหวัดพิษณุโลก นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังเปิดการประชุมวิชาการมหกรรมศูนย์สุขภาพชุมชน กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 4 ซึ่งมีผู้บริหารจากส่วนกลาง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการทุกระดับ ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในศูนย์สุขภาพชุมชนและสถานีอนามัยทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมประมาณ 1,200 คนว่า แนวโน้มปัญหาสุขภาพของคนไทยและประชากรโลกขณะนี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ การเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งองค์การอนามัยโลกรายงานว่าเป็นสาเหตุให้คนทั่วโลกต้องเสียชีวิตถึง 16.7 ล้านคนในปี 2546 และเพิ่มเป็น 17.5 ล้านคนในปี 2548 โดยส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่มีฐานะยากจน สาเหตุหลักๆ มาจากการกินอาหารที่บั่นทอนสุขภาพ เช่น หวานเกิน เค็มเกิน มันเกิน กินผักผลไม้น้อย ไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่และดื่มเหล้า ส่วนคนที่รอดพ้นจากการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต ก็ต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องยาวนาน กลายเป็นภาระโรคที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของครอบครัวและประเทศชาติอย่างมาก
นายแพทย์มงคล กล่าวต่อว่า ในการจัดบริการสุขภาพของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล มีความพอเหมาะพอดีกับสภาวะเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยให้ระบบสุขภาพของประเทศไทยมีการพัฒนาได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน สำหรับศูนย์สุขภาพชุมชน (ศสช.) ซึ่งเป็นสถานบริการสุขภาพด่านแรกที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน สามารถเข้าถึงบริการได้ง่าย นอกจากการจัดบริการที่ตอบสนองต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ได้แก่ การรักษา ป้องกันโรค ส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพ ยังเน้นการจัดบริการเชิงรุกเพื่อสร้างสุขภาพและความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพได้ในระยะยาว
ด้านนายแพทย์ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศให้มีคุณภาพมาตรฐาน ต้องเริ่มตั้งแต่ฐานราก คือหน่วยบริการและบุคลากรสาธารณสุขในระดับตำบล ซึ่งการประชุมวิชาการนับเป็นกลวิธีสำคัญ ที่ผลักดันให้บุคลากรสาธารณสุขในระดับตำบล ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ นำไปพัฒนางาน พัฒนานวัตกรรมบริการสุขภาพใหม่ๆ เพื่อให้มีการจัดบริการที่ดี มีคุณภาพและเป็นที่พึงพอใจของประชาชนมากยิ่งขึ้น โดยในปีนี้มีศูนย์สุขภาพชุมชนดีเด่นระดับเขต ได้รับโล่รางวัลประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัลแห่งละ 10,000 บาท จำนวน 19 แห่ง ได้แก่ 1.ศสช.ช่อแฮ อ.เมือง จ.แพร่ 2.ศสช.ตำบลสมอแข อ.เมือง จ.พิษณุโลก 3.ศสช.ตลุกดู่ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี 4.ศสช.บางจัก อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง 5.ศสช.กุดตาเพชร อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี 6.ศสช.ตำบลมะขามล้ม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี 7.ศสช.บ้านดอนจวง อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ 8.ศสช.ลาดตะเคียน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี 9.ศสช.คลองนารายณ์ อ.เมือง จ.จันทบุรี 10.ศสช.โนนสูง อ.เมือง จ.อุดรธานี 11.ศสช.กลางโพน ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม 12.ศสช.หัวนาคำ อ.เมือง จ.มหาสารคาม 13.ศสช.เมืองแก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ 14.ศสช.ดงแคนใหญ่ อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร 15.ศสช.บ้านควนสามัคคี อ.สวี จ.ชุมพร 16.ศสช.บ้านปากเหมือง ต.ควนชะลิก อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช 17.ศสช.บ้านบางเหรียง อ.เขาพนม จ.กระบี่ 18.ศสช.บุดี อ.เมือง จ.ยะลา และ 19.ศสช.ท่าเรือ อ.ท่าแพ จังหวัดสตูล
*********************สิงหาคม/3*******************2 สิงหาคม 2550
View 3
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ