กระทรวงสาธารณสุข จัดทำยุทธศาสตร์ทศวรรษการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ 6 แนวทาง เร่งพัฒนาการจัดบริการให้สอดคล้องกับพื้นที่ทั้งเขตเมืองใหญ่ และพื้นที่เฉพาะ เช่น เขตอุตสาหกรรม พื้นที่ชายแดน ท่องเที่ยวและทุรกันดาร เพิ่มบุคลากรและเทคโนโลยีต่างๆ ที่จำเป็น ทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในแต่ละพื้นที่ ให้ประชาชนเข้าถึงบริการสะดวก ทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรมในทุกพื้นที่ ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ เน้นทำงานแบบทีมหมอครอบครัว เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายทั้งโรงพยาบาล ชุมชน เอกชน ท้องถิ่น

         วันนี้ (16 มิถุนายน 2558) ที่ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมรับฟังความคิดเห็น “ร่างแนวทางการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ”จากผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/ โรงพยาบาลชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันการศึกษา สภาวิชาชีพต่างๆ ผู้แทนจากกทม. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน  อสม. และชมรมร้านยา จำนวน 100 คน เพื่อนำมาปรับปรุงให้เป็นที่ยอมรับและเกิดการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

           นายแพทย์สุรเชษฐ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งพัฒนาบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิ ซึ่งมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและศูนย์สุขภาพชุมชน เป็นสถานบริการหลักในการจัดบริการดูแลประชาชน  ขณะนี้มีครอบคลุมทุกตำบลแล้ว แต่สิ่งที่ต้องพัฒนาคือการจัดบริการให้สอดคล้องกับพื้นที่ เขตเมืองใหญ่ และพื้นที่เฉพาะ เช่น เขตอุตสาหกรรม พื้นที่ชายแดน ท่องเที่ยวและทุรกันดาร โดยการเพิ่มบุคลากร และเทคโนโลยีต่างๆ ที่จำเป็น จึงได้จัดทำ “ร่างยุทธศาสตร์ทศวรรษการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ พ.ศ. 2559 -2568” เพื่อพัฒนาบริการระดับนี้ให้เข็มแข็งขึ้น เชื่อมโยงบริการดูแลประชาชนร่วมกับโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปและศูนย์เชี่ยวชาญต่างๆ รวมทั้งองค์กรนอกสังกัดที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน เป็นต้น ให้ประชาชนเข้าถึงบริการสะดวกทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรมในทุกพื้นที่ เน้นการทำงานในรูปทีมหมอครอบครัว ส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพตัวเอง ลดโรคภัยไข้เจ็บ ส่งผลให้โรงพยาบาลแออัดน้อยลง 

          ด้านนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ  กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิมี 6 แนวทาง ดังนี้ 1.เพิ่มศักยภาพและการขยายบริการระบบปฐมภูมิให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมืองและพื้นที่เฉพาะ ให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้อย่างสะดวกและทั่วถึง ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ภาคเอกชน ท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่  2.พัฒนากลไกระบบการบริหารจัดการด้านบริการปฐมภูมิในชุมชน ทั้งด้านการรักษาพยาบาล การป้องกัน ส่งเสริม การฟื้นฟูสุขภาพ        3.พัฒนาระบบสนับสนุนการบริการปฐมภูมิให้มีประสิทธิภาพ อาทิ พัฒนากำลังคนที่หน่วยบริการปฐมภูมิ และการสนับสนุนให้วิชาชีพอื่นๆ อาทิ แพทย์ ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข ร่วมให้บริการมากขึ้น สร้างแรงจูงใจให้บุคลากร ให้มีความก้าวหน้าในการทำงาน รวมทั้งจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมในบริบทพื้นที่

           4.บริหารงานอย่างเป็นรูปธรรม เชื่อมโยงเครือข่ายบริการสอดคล้องกับพื้นที่ 5.พัฒนาปัจจัยต่างๆเพื่อสร้างความสำเร็จ เช่น พัฒนาผู้นำทั้งในและนอกสังกัด การสร้างทักษะเจ้าหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน พัฒนาระบบข้อมูลเชื่อมโยงความรู้ในแต่ละด้านที่เอื้อประโยชน์ในการทำงานร่วมกัน และ 6.พัฒนาระบบติดตามประเมินผลและการวิจัยและสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น

************************** 16 มิถุนายน 2558



   
   


View 21    16/06/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ