รายงานข่าวโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ เมอร์ส

(Middle East Respiratory Syndrome: MERS)
ประจำวันที่ 3 กรกฎาคม 2558
 
1. สถานการณ์ ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2558   
1.พบผู้ป่วยยืนยันในประเทศ 1 ราย  
2.พบผู้สัมผัสโรค 176 คน ได้รับการติดตามในระบบเฝ้าระวังโรคครบกำหนดแล้ว ทุกคนอาการปกติ
3.สถานการณ์ทั่วโลก ข้อมูล ตั้งแต่ 30 มิถุนายน 2555 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2558 พบผู้ป่วย 1,357 ราย เสียชีวิต 489 ราย ใน 26 ประเทศ ส่วนประเทศเกาหลีใต้ ข้อมูล ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 พบผู้ป่วย 182 ราย  เสียชีวิต 33 ราย 
4. ขอความร่วมมือประชาชน อย่าเชื่อข่าวลือจากทุกทาง “เช็คก่อนแชร์” ข้อมูลผู้ป่วยทางสื่อออนไลน์ เพื่อไม่ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแพร่หลาย เกิดความตระหนก และมีความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ โปรดติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุข หากมีข้อสงสัย โทร 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง 
 
2. สธ.เผยไทยยังไม่ใช่พื้นที่ติดโรคเมอร์ส  คง  6 มาตรการป้องกันโรค 
นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศไทย ยังไม่พบการระบาดของโรคเมอร์ส แม้มีผู้ป่วย 1 ราย จากประเทศโอมาน เข้ามารับการรักษาในประเทศไทย  แต่ได้รับการควบคุมดูแลป้องกันการแพร่เชื้ออย่างเข้มงวดตามมาตรฐาน  สำหรับผู้สัมผัสโรค 176 คน ทุกคนได้รับการติดตามเฝ้าระวังจนครบกำหนด 14 วัน และทุกคนอาการปกติ  ไม่มีผู้ใดติดเชื้อเมอร์ส   จึงไม่มีการแพร่ระบาดของโรคเมอร์สในประเทศไทย   อย่างไรก็ดี ยังต้องคงมาตรการป้องกันโรคอย่างเต็มที่ โดยติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรคเมอร์ส  ตามมาตรฐาน และตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกมากว่า 3 ปีตั้งแต่มีรายงานโรคครั้งแรกในตะวันออกกลาง  และมีการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเป็นระยะ  กระทรวงสาธารณสุขได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนิน มาตรการหลักอย่างเข้มข้น  ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังคัดกรองผู้เดินทาง  ที่ด่านเข้า-ออกระหว่างประเทศ เช่น สนามบิน ด่านชายแดน หากพบว่ามาจากประเทศติดโรคและมีไข้จะส่งตรวจที่โรงพยาบาลในพื้นที่ทันที
2.ให้โรงพยาบาลทุกแห่ง จัดจุดบริการเบ็ดเสร็จหรือทางด่วน คัดกรองผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ ที่มีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่ติดโรคภายใน 14 วัน เตรียมพร้อมห้องปฏิบัติการส่งตรวจเชื้อที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 13 แห่งทั่วประเทศ เตรียมห้องแยกโรคในทุกโรงพยาบาล และกำชับบุคลากรให้เคร่งครัดการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล  3.ให้ทุกจังหวัดเตรียมพร้อมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เพื่อสอบสวนควบคุมป้องกันโรคอย่างรวดเร็ว 4.เมื่อได้รับรายงานผู้สงสัยว่าป่วย ให้ติดตามผู้สัมผัสผู้ป่วยโรคทันทีตามแนวทางที่วางไว้ 5.ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อการป้องกันโรค ไม่ตื่นตระหนก ประชาชนสามารถโทรปรึกษาที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง และ6.ให้ทุกจังหวัดจัดบริการตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และกาฬหลังแอ่น ให้ความรู้การป้องกันโรค การดูแลสุขภาพเบื้องต้น แก่ผู้เดินทางไปประกอบพิธีทางศาสนาในประเทศที่เป็นพื้นที่ติดโรค  
                                               
3. การเฝ้าระวังผู้เดินทางกลับจากตะวันออกกลางและเกาหลีใต้ ที่เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค
ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 2 กรกฎาคม 2558 มีบุคคลผู้เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค ซึ่งส่วนใหญ่คือผู้เดินทางจากประเทศที่มีรายงานการเกิดโรคเมอร์สเข้ามาทั้งหมด 140 ราย  ในจำนวนนี้มาจากเกาหลีใต้ 74 ราย จากตะวันออกกลาง 66 ราย  สำหรับในวันที่ 2 กรกฎาคม 2558  มีบุคคลผู้เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค รวม 2 ราย มาจากเกาหลีใต้ 1 คน  ตะวันออกกลาง 1 คน ทุกคนได้ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ   
 
4. สรุปผลการให้บริการสายด่วน 1422 ปรึกษาประชาชนเรื่อง โรคเมอร์ส
ในรอบ 24 ชั่วโมง วันที่ 3 กรกฎาคม 2558 มีผู้โทรมาสอบถามที่สายด่วน กรมควบคุมโรค รวม 76 สาย เป็นสายสอบถามโรคเมอร์ส 28 สาย คำถามที่ถามมากที่สุด คือ อาการ การป้องการตัวเอง การปฎิบัติตัวเมื่อกลับจากพื้นที่ติดโรคแล้วป่วย ที่น่าสนใจ คือ สถานทูตญี่ปุ่น ขอทราบอาการของผู้ป่วยชาวโอมาน  
 
5. ผลการดำเนินงานที่ด่านควบคุมโรค 
-ที่สนามบินสุวรรณภูมิได้ตรวจคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิ ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2558จำนวน 29,982 คน พบผู้มีไข้ 5 คน ไม่มีประวัติเดินทางจากพื้นที่ติดโรคอีโบลาและเมอร์ส เป็นผู้โดยสารในเที่ยวบินตรงจากพื้นที่ติดโรค จำนวน 245 คน ไม่พบผู้มีไข้ 
-ที่สนามบินภูเก็ต คัดกรองผู้เดินทางจากพื้นที่ติดโรค 5 เที่ยวบิน จำนวน 987 คน พบมีไข้ 1 คน ได้ส่งตรวจเพิ่มเติม ตามแนวทางเฝ้าระวังป้องกันโรคที่กำหนดไว้ 
-ที่สนามบินเชียงใหม่ คัดกรองผู้เดินทางจากพื้นที่ติดโรค   1 เที่ยวบิน จำนวน 211 คน ไม่พบผู้มีไข้  
-ด่านพรมแดนหนองคาย คัดกรองผู้เดินทางจากพื้นที่ติดโรค  84  คน  ไม่พบผู้มีไข้   
-แจกคำแนะนำ (health beware card) ประสานงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ส่งผู้เดินทางจากเขตติดโรคให้เจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคตรวจวัดไข้ทุกราย ก่อนอนุญาตให้เข้าเมือง
6. ข้อแนะนำประจำวันในการป้องกันตนเองจากโรคติดต่อทางเดินหายใจ รวมทั้งโรคเมอร์ส
ประชาชนคนไทยทั่วไปไม่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคเมอร์ส  ยกเว้นผู้ที่เดินทางไปในประเทศที่มี
การระบาด สำหรับประชาชนทั่วไปมีข้อปฏิบัติดังนี้
1.   หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจหรือผู้ที่มีอาการไอหรือจาม
2.   ปฏิบัติตามสุขอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ 
3.   รับผิดชอบต่อสังคม เมื่อมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสคลุกคลีกับบุคคลอื่น เมื่อไอ หรือจามควรใช้กระดาษชำระปิดปากและจมูกทุกครั้ง และทิ้งกระดาษชำระที่ใช้แล้วลงในถังขยะที่ปิดมิดชิดและล้างมือให้สะอาด สวมหน้ากากอนามัย สำหรับผู้เดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค หากมีอาการดังกล่าวภายใน 14 วัน ให้รีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง 
4. ประชาชนที่ไม่ได้เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง หากมีไข้ ไอ ไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นโรคเมอร์ส ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาตามปกติ หรือโทรปรึกษา สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมงหรือติดตามข่าวสารทางเฟสบุ๊ค “ไทยสู้เมอร์ส”       
********************   3 กรกฎาคม 2558
 


   
   


View 17    03/07/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ