เขตสุขภาพที่ 2 พัฒนาศักยภาพการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลชุมชน 5 สาขาหลัก   ผ่าตัดคลอด  ผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ ดูแลเด็กแรกเกิดที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ  การติดเชื้อในกระแสเลือด  และดูแลผู้ป่วยกระดูกหัก ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการรวดเร็ว ใกล้บ้าน ลดการเสียชีวิตและลดการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาข้ามเขต  และเพิ่มศักยภาพเป็นศูนย์บริการเชี่ยวชาญทั้งเขต

            นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังติดตามความก้าวหน้าของการจัดบริการในรูปแบบเขตสุขภาพที่โรงพยาบาลวังทองและโรงพยาบาลพุทธชินราช  จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งอยู่ในเขตสุขภาพที่2 พร้อมคณะ ว่านโยบายกระทรวงสาธารณสุขได้จัดบริการในรูปแบบเขตสุขภาพ เพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกันในการดูแลประชาชนทุกพื้นที่ เข้าถึงบริการที่มีมาตรฐานเท่าเทียมกัน  เพิ่มศักยภาพการให้บริการของโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ลดการส่งต่อ ลดความแออัดที่โรงพยาบาลใหญ่   และรับการส่งกลับเมื่อผู้ป่วยพ้นระยะวิกฤต  ทำให้ประชาชนอุ่นใจ เข้าถึงบริการง่ายและรวดเร็วไม่ต้องรอคิวนาน  ลดค่าใช้จ่ายและสร้างความเชื่อมั่นในบริการที่รัฐจัดให้

            นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อว่า  ภาพรวมของเขตสุขภาพที่2  ในปีที่ผ่านมาได้พัฒนาศักยภาพบริการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลชุมชนให้สูงขึ้น โดยบริหารจัดการใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งบุคลกร อุปกรณ์ทางการแพทย์ และงบประมาณใน 5 สาขาหลักได้แก่ 1. การผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง  การดูแลหญิงฝากครรภ์อย่างมีคุณภาพ  ทำอัลต้าซาวด์ทุกรายทำให้ตรวจวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ  ส่งผลให้อัตราการตายของมารดาลดลง  2. การดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสโลหิต ซึ่งเป็นกรณีฉุกเฉินวิกฤติ ให้ได้รับยาปฏิชีวนะภายใน 1 ชั่วโมงและพัฒนาเครือข่ายในการส่งต่อผู้ป่วยและดูแลอย่างต่อเนื่อง  3.การทำผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย  4. การดูแลเด็กทารกแรกเกิดที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและ5.การพัฒนาการดูแลผู้ป่วยกระดูกหักชนิดไม่เคลื่อนที่ ที่โรงพยาบาลชุมชน  รวมทั้งการพัฒนาทีมผ่าตัดหลอดเลือดที่โรงพยาบาลศูนย์  ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลใกล้บ้าน  ลดการส่งผู้ป่วยไปรักษาต่อข้ามเขตได้อย่างมาก 

            ทางด้านนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต  ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขประจำเขตสุขภาพที่ 2   กล่าวว่า เขตบริการสุขภาพที่ 2 มี 5 จังหวัด คือพิษณุโลก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์  สุโขทัยและตาก สภาพพื้นที่ในเขตสุขภาพที่ 2 ส่วนใหญ่เป็นภูเขาห่างไกล ทุรกันดาร มีประชากรที่ต้องดูแล  3 ล้านกว่าคน   มีโรงพยาบาลศูนย์ 2 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 5 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน   37 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 675 แห่ง   ในปี พ.ศ.2559-2561 ได้จัดแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพในเขตสุขภาพที่ 2  ให้เป็นศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด ศูนย์โรคมะเร็ง ศูนย์การดูแลทารกแรกเกิด ศูนย์อุบัติเหตุภาคเหนือตอนล่าง ศูนย์รักษาผ่าตัดโรคทางตา และศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาธารณสุขชายแดน    

    **********************     2 สิงหาคม 2558

 

 



   
   


View 12    02/08/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ