“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 138 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปรับหลักสูตรการเรียนแพทย์ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่ม เพิ่มแพทย์ในระบบบริการในพื้นที่ภาคใต้ โดยใช้โรงพยาบาลชุมชนเป็นฐานการเรียนการสอน แพทย์เข้าใจปัญหาและผูกพันชุมชนและเป็นแพทย์คุณธรรม
วันนี้ (8 กันยายน 2558) ที่ โรงพยาบาลตรัง จังหวัดตรัง นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก ที่โรงพยาบาลตรัง ซึ่งสร้างแล้วเสร็จในปี 2558 เป็นอาคารสำนักงาน อาคารเรียน หอพักนักศึกษาแพทย์ ในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังขาดแคลนแพทย์อีกจำนวนถึง 12,290 คนขณะนี้มีแพทย์ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสังกัดทั่วประเทศจำนวน 13,230 คน คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2555 อนุมัติในหลักการผลิตแพทย์เพิ่มจากระบบปกติอีก 9,039 คน ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย พ.ศ.2556-2560 โดยผลิตจากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มของกระทรวงศึกษาธิการ4,038 คน และการผลิตจากโครงการผลิตแพทย์ชนบทเพิ่ม ของกระทรวงสาธารณสุข 5,001 คน เพื่อเพิ่มสัดส่วนจำนวนแพทย์ต่อประชากรอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานองค์การอนามัยโลก แพทย์ 1 คน ต่อประชากร 1,500 คน
สำหรับโครงการผลิตแพทย์เพิ่มชนบทในส่วนของพื้นที่ภาคใต้ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พัฒนาระบบการศึกษาแพทย์ในโครงการแนวใหม่ โดยใช้โรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่เป็นฐานในการจัดการเรียนการสอน เป็นแนวคิดใหม่ของการผลิตแพทย์ออกไปรับใช้ประชาชนในชนบท เพื่อให้นักศึกษาแพทย์เรียนรู้และเข้าใจปัญหาสาธารณสุขที่พบในพื้นที่ดีขึ้น รวมถึงได้เรียนรู้การจัดบริการสุขภาพแบบองค์รวม ซึ่งประกอบด้วยการส่งเสริมสุขภาพ การรักษาพยาบาล ป้องกันการเจ็บป่วย การฟื้นฟูสภาพ นักศึกษาแพทย์มีความผูกพันกับประชาชนในพื้นที่ผลิตปีละประมาณ 30 คน
สำหรับศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลตรังเป็นสถาบันร่วมผลิตนักศึกษาแพทย์ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา รับนักเรียนในจังหวัดตรังและนครศรีธรรมราชปีละ 24 คน มุ่งผลิตแพทย์ตามแนวคิดใหม่คือมีความรู้ คู่คุณธรรม และเป็นผู้นำชุมชนในการพัฒนา ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของประชาชน โดยร่วมมือกับสถานบริการในเขตสุขภาพภาคใต้ 2 เขตคือเขตที่ 11 และ 12 ขณะนี้มีนักศึกษาในโครงการจบไปแล้ว 2 รุ่น รวม 48 คน จะขยายในพื้นที่อื่นๆต่อไป
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า การปรับการผลิตแพทย์ในโครงการดังกล่าวนี้จะสอดรับกับการปฏิรูประบบบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในรอบ 2 ปีมานี้ได้จัดบริการเป็นเขตสุขภาพ มีทั้งหมด 12 เขต เขตละ 5-6 จังหวัด ดูแลประชาชนในสัดส่วนใกล้เคียงกันคือประมาณ 5 ล้านคน เชื่อมโยงตั้งแต่ระดับปฐมภูมิซึ่งเน้นการป้องกันโรคเป็นหลักจนถึงการรักษาโรคในระดับเชี่ยวชาญแบบไร้รอยต่อ ลงทุนพัฒนาศักยภาพบริการโรงพยาบาลต่างๆ ภายในเขตร่วมกันเสมือนเป็นโรงพยาบาลเดียวกัน สอดคล้องกับสภาพปัญหาสุขภาพให้เหมาะสม ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียม จากการติดตามผลพบว่าได้ผลดีคิวรอรักษาสั้นลง เช่น โรคหัวใจได้รับการผ่าตัดไม่เกิน 9 เดือน ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องรอเป็นปี ทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลงจากร้อยละ 17 เหลือร้อยละ 12 รวมทั้งโรคมะเร็ง ได้รับการฉายรังสีเร็วขึ้น ซึ่งเมื่อมีการปรับระบบการผลิตแพทย์แนวใหม่ให้สอดคล้องไปด้วย มั่นใจว่าระบบบริการสาธารณสุขของประเทศในอนาคตจะดีขึ้นเรื่อยๆ
**************************** 8 กันยายน 2558