รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยคนไทยฆ่าตัวตายปีละ 3,900 คน เฉลี่ยทุก 2 ชั่วโมง ให้กรมสุขภาพจิตรุกป้องกัน ส่งอสม.
จนท.สธ. เฝ้าระวังค้นหากลุ่มเสี่ยงในชุมชน คือซึมเศร้า เคยพยายามฆ่าตัวตาย เข้าสู่ระบบการรักษา ย้ำเตือนชาวสังคมออนไลน์ ช่วยสังเกตสัญญาณฆ่าตัวตาย รอบคอบใช้ข้อความโพสต์ แนะหลัก “4 อย่า 3 ควร” อย่าท้าทาย/ เยาะเย้ย/ นิ่งเฉย/ ส่งต่อ และควรห้าม/ ชวนคุย/ ติดต่อหาความช่วยเหลือ จะช่วยได้
วันนี้ (10 กันยายน 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต และคณะ แถลงข่าวมาตรการเชิงรุกป้องกันการฆ่าตัวตายในโลกยุคดิจิตอลว่า วันที่ 10 กันยายนทุกปี องค์การอนามัยโลก กำหนดให้เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (WorldSuicide PreventionDay) เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2546 เป็นต้นมาเพื่อรณรงค์ให้ทั่วโลกตระหนักปัญหาการฆ่าตัวตายและการป้องกัน ปีนี้กำหนดประเด็นว่า “ป้องกันการฆ่าตัวตาย ยื่นมือเพื่อช่วยชีวิต” (Preventing Suicide: Reaching Out and Saving Lives) การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตทั่วโลกร้อยละ 1.4 จำนวนกว่า 800,000 คนต่อปี หรือ 11.69 ต่อประชากรแสนคน คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.5 ล้านคนในปี พ.ศ.2563 โดยมีคนพยายามฆ่าตัวตายสูงกว่าคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 20 เท่าตัว สำหรับไทยมีอัตรา
การฆ่าตัวตายสูงสุดในปี พ.ศ. 2544 คิดเป็น 8.2 ต่อประชากรแสนคน และลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดในปี 2557 เหลือ 6.08 ต่อประชากรแสนคน แม้ว่าจะอยู่ในเป้าหมายที่กำหนดคือไม่เกิน 6.5 ต่อประชากรแสนคน แต่ยังมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จปีละกว่า 3,900 คน เฉลี่ย 1 คนในทุก 2 ชั่วโมง ผู้ชายฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้หญิง 3 เท่า และเป็นกลุ่มอายุ 35-39 ปีมากที่สุด ภาคเหนือมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าภาคอื่น อัตรา 10 ต่อประชากรแสนคน สูงสุดที่จังหวัดลำพูน 20 ต่อประชากรแสนคน แนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ได้มอบให้กรมสุขภาพจิต เพิ่มการทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันปัญหา ระดมความร่วมมือทุกภาคส่วน เน้นหนัก 2 กลุ่มเสี่ยงหลัก คือ 1.กลุ่มที่มีภาวะซึมเศร้า ซึ่งมีความเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงที่สุด ได้แก่ ผู้ที่มีอาการซึมเศร้า ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง เบาหวาน ข้อเสื่อม ไตวาย โรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์หรือหลังคลอด ผู้ติดสุรา ยาเสพติด รวมทั้งผู้ประสบภาวะวิกฤตหรือมีความสูญเสียที่รุนแรง ให้อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตรวจคัดกรองในชุมชน และเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาโดยเร็ว ซึ่งมีผลช่วยลดการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายน้อยลงในอัตราเพียง 0.4 ต่อประชากรแสนคน หรือเพียง 2 คน 2.กลุ่มฆ่าตัวตายด้วยความหุนหันพลันแล่น พบว่ากลุ่มที่เคยพยายามฆ่าตัวตาย ส่วนใหญ่ทำเพราะความหุนหัน และมีปัจจัยกระตุ้นจากดื่มสุรา ปัญหาครอบครัว โดยให้อสม. และเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ลงเยี่ยมบ้าน ให้คำปรึกษาแนะนำและส่งต่อเข้าสู่ระบบบริการ
ประการสำคัญ กระแสโลกในยุคสังคมดิจิตอล นับวันยิ่งน่าห่วง ประชาชนนิยมใช้สื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟสบุ๊ค ไลน์ อินสตาแกรม จำนวน 16 ล้านคน จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า ยิ่งเข้าถึงโลกออนไลน์มากเท่าใด ความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการทำร้ายตนเอง/ฆ่าตัวตายจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่อารมณ์อ่อนไหวง่าย จิตใจเปราะบาง ถูกกีดกันทางสังคม หรือถูกกลั่นแกล้ง จึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนให้เข้าใจถึงสัญญาณเตือนและวิธีการช่วยเหลือ ช่วยเตือนสติผู้ที่กำลังทุกข์ให้มีกำลังใจที่จะสู้ต่อไป เลิกคิดทำร้ายตัวเอง หรือ หยุดความคิดที่จะฆ่าตัวตายได้ทันเวลา” ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าว
ด้านนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลการสำรวจพฤติกรรมการฆ่าตัวตายของคนไทยในจังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง ทั้ง 12 เขตสุขภาพในรอบ 3 ปีนี้ พบอัตราการฆ่าตัวตายในเขตบริการสุขภาพที่ 1, 8 และ 9 ซึ่งเป็นภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุมาจากความขัดแย้งในครอบครัว ผู้ชายและผู้หญิงคล้ายกันคือเกิดจากความน้อยใจ คนใกล้ชิดดุด่า ทะเลาะกับคนใกล้ชิด และทุกข์ทรมานจากการป่วยโรคเรื้อรัง โดยผู้หญิงจะมีเรื่องความรักความหึงหวง ผิดหวังในความรักด้วย โดยผู้ชายที่ฆ่าตัวตายสำเร็จร้อยละ 3 จะมีการทำร้ายคนอื่นร่วมด้วย ขณะที่ผู้หญิงร้อยละ 2 จะทำร้ายคนอื่นก่อนฆ่าตัวตาย อายุต่ำสุดคือ 10 ขวบ และสูงสุดคือ 93 ปี กลุ่มอายุ 35 –39 ปี ฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่ากลุ่มอื่น
ทั้งนี้ ก่อนลงมือฆ่าตัวตาย มักจะส่งสัญญาณเตือน ขอความช่วยเหลือมาก่อน ทั้งจากคำพูด การเขียนจดหมาย การส่งข้อความสั้น( SMS) การไลน์ หรือการโพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดีย เป็นต้น โดยพบว่า เกือบครึ่งจะแสดงท่าทีหรือสัญญาณเตือนบอกเหตุแก่ครอบครัวและบุคคลใกล้ชิดก่อน ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงถึง 1 เดือน ซึ่งจะพบมากที่สุดในช่วง 3 วันแรกก่อนการเสียชีวิต และร้อยละ 79 จะมีเหตุกระตุ้นก่อน เช่น ดื่มสุรา และทะเลาะกับคนใกล้ชิด
นายแพทย์เจษฎากล่าวต่อว่า ในระยะหลังนี้ พบว่ามีการส่งสัญญาณก่อนฆ่าตัวตายทางสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น ทั้งข้อความ ภาพ และคลิปวีดีโอ อาทิ การตัดพ้อหรือพูดจาสั่งเสียเป็นนัยๆ เช่น ลาก่อน ครั้งนี้จะเป็นโพสต์สุดท้าย คงไม่ได้เจอกันอีกแล้ว อโหสิกรรมให้ด้วย หรือบอกถึงการจัดการทรัพย์สิน และให้เบอร์ญาติพี่น้องทิ้งไว้ หรือใช้ข้อความบ่งบอกไม่อยากมีชีวิตอยู่เช่น อยู่ไม่ได้จริงๆ ถึงเวลาแล้ว ชีวิตมันสั้นนัก มางานศพกันด้วยล่ะ หรือพูดถึงความเจ็บปวดความสูญเสียที่เกิดขึ้นในชีวิต เช่น อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีเขา อ่อนแอกับเรื่องนี้มาก เหนื่อยชีวิต เครียดกับทุกอย่าง รวมทั้งโพสต์ถึงการเป็นภาระของผู้อื่น หรือรู้สึกผิด เช่น ขาดเราไปมันคงดีขึ้น บางรายโพสต์ ภาพวิธีที่จะใช้ฆ่าตัวตาย เช่น ใช้ปืนจ่อขมับ ดังนั้น หากเห็นสัญญาณที่กล่าวมานี้ ขอให้ช่วยกันเตือนสติ ให้กำลังใจ เลิกคิดทำร้ายตัวเอง หรือหยุดความคิดที่จะฆ่าตัวตายได้ทันเวลา อย่าคิดว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ เป็นเรื่องไร้สาระ ล้อเล่น หรือไม่คิดฆ่าตัวตายจริงๆ ทำให้ไม่สามารถยับยั้งหรือช่วยเหลือได้ทันเวลา
การป้องกันและลดปัญหาการฆ่าตัวตายจากสื่อสังคมออนไลน์ ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 อย่า และ 3 ควร โดย 4 อย่า ได้แก่ 1.อย่าท้าทาย ไม่สื่อความหมายต่างๆ เช่น “ทำเลย”“กล้าทำหรือเปล่า” เพราะจะยิ่งไปกระตุ้นให้เขาทำ 2.อย่าใช้คำพูดเยาะเย้ย เช่น “โง่” “บ้า” หรือตำหนิอื่นๆ เพราะจะยิ่งเพิ่มความคิดทางลบและเพิ่มโอกาสทำมากขึ้น 3.อย่านิ่งเฉยการนิ่งเสมือนเป็นการสนับสนุนทางอ้อม 4.อย่าส่งข้อความ หรือเผยแพร่ภาพการฆ่าตัวตายและความเศร้าโศกของครอบครัวผู้เสียชีวิตจนมากเกิน เพราะจะกระตุ้นให้ผู้ที่คิดฆ่าตัวตายเกิดการเลียนแบบ และเป็นการเคารพผู้กระทำและความรู้สึกของญาติผู้เสียชีวิตด้วย
ส่วนสิ่งที่ควรทำ 3 ควร ได้แก่ 1.ควรห้าม หรือขอให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าว เพราะโดยทั่วไปผู้ที่คิดฆ่าตัวตายส่วนใหญ่จะลังเลใจ จะช่วยให้ยับยั้งใจได้มากขึ้น 2.ควรชวนคุย ประวิงเวลาให้มีโอกาสทบทวน โดยการถามถึงความทุกข์ รับฟัง และไม่ปล่อยให้อยู่คนเดียว ให้คิดถึงคนที่รักและเป็นห่วง แนะทางออกอื่นๆ และ3.ควรติดต่อหาความช่วยเหลือ เช่น บุคคลที่ใกล้ชิดเขาที่สุดขณะนั้น โดยกรมสุขภาพจิตมีสายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ โทร 191 หรือสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อเข้าสู่ระบบบริการโดยเร็ว
********************************** 10 กันยายน 2558