กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับแพทยสภา สถาบันพระปกเกล้า จัดโครงการแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติฯ ที่ จ.กาญจนบุรี ซ้อมเปิดในรูปแบบโรงพยาบาลสนาม 18 คลินิก รองรับหากเกิดภัยพิบัติ บริการตรวจคัดกรองรักษาผู้ป่วยโรคซับซ้อนทุกระบบ ด้วยยา การผ่าตัด และเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย ฟรี โดยทีมแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์อาสาจากราชวิทยาลัยและโรงพยาบาลรัฐ-เอกชนชั้นนำ กว่า 500 คนตั้งเป้าตรวจรักษาผู้ป่วย 6,000 คน
วันนี้ (12 กันยายน 2558) ที่ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรีศ.นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรีเปิด “โครงการแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถและเทิดพระเกียรติในวโรกาส 60พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ครั้งที่ 3 จัดโดยนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ สำหรับผู้บริหารระดับสูงรุ่นที่ 3 ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยโรคซับซ้อนที่ต้องพบผู้เชี่ยวชาญ โดย นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, ศ.นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา และรองศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ให้การต้อนรับ
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า โครงการในวันนี้เป็นการจัดหน่วยแพทย์ขนาดใหญ่ระดับประเทศ โดยใช้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขเป็นแกนนำจัดการ เป็นการรวมตัวกันของแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์จากราชวิทยาลัยและโรงพยาบาลชั้นนำรัฐ-เอกชนกว่า 500 คนเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยโรคซับซ้อนที่ต้องรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ตั้งเป้ารักษาผู้ป่วย 6,000 คน ในพื้นที่โดยรอบ จ.กาญจนบุรี เช่น โรงพยาบาลราชบุรี มะการักษ์ สมเด็จพระสังฆราชฯ ค่ายสุรสีห์ และทองผาภูมิ ดำเนินการล่วงหน้ามา 3 เดือน ก่อนจัดกิจกรรมครั้งใหญ่ในวันนี้ ประชาชนเข้ารับบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
โดยเปิดบริการ 18 คลินิกโรคเฉพาะทาง ในรูปแบบโรงพยาบาลสนาม เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ความเสี่ยงเกิดภัยพิบัติ ให้บริการครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่1.การตรวจคัดกรองโรค เช่น ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยเอกซเรย์ ตรวจระบบประสาทด้วยเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ส่องกล้องตรวจโรคระบบทางเดินอาหาร ตรวจคลื่นหัวใจ ตรวจปัสสาวะคัดกรองโรคไต 2.การรักษาโดยแพทย์เฉพาะทาง เช่น การผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งศีรษะและลำคอ โรคหัวใจ ตาต้อกระจก โรคทางสมอง กระดูกผิดปกติ โรคจิตเภทเรื้อรัง ทันตกรรม มอบเครื่องช่วยฟัง ขาเทียม แว่นตา รถเข็น 3.การส่งเสริมสุขภาพประชาชน เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันโรคท้องร่วง วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก ทดสอบสมรรถภาพทางกาย สาธิตการออกกำลัง-อาหารเพื่อสุขภาพ 4.การสนับสนุนบริการสุขภาพ ด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร การให้ความรู้เรื่องสมุนไพร กฎหมาย การเงิน จากภาครัฐและเอกชน โดยความร่วมมือจากประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่
“กิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากให้บริการด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระดับสูงแล้ว ยังเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้จากอาจารย์แพทย์ไปยังแพทย์ในพื้นที่ ช่วยเตรียมพร้อมโรงพยาบาลในพื้นที่ หากต้องปรับเป็นโรงพยาบาลสนามต้นแบบในอนาคต รวมทั้งจัดระบบการประสานงานหากมีความจำเป็นต้องระดมกำลังแพทย์เพื่อเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่นั้นๆ” นายแพทย์ณรงค์ กล่าว
********************************* 12 กันยายน 2558