กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จัดโครงการฝังรากฟันเทียมรุ่นเมดอินไทยแลนด์ ให้ผู้สูงอายุที่มีปัญหาสันกระดูกขากรรไกรยุบตัว ใส่ฟันเทียมแล้วหลุดง่าย ตั้งเป้า 10,000 ราย ใช้งบประมาณ 130 ล้านบาท เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันนี้ (7 สิงหาคม 2550) นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีมอบโล่ให้สถานบริการนำร่อง ในโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ สถาบันทันตกรรม โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี โรงพยาบาลศูนย์ชลบุรี โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลศูนย์ลำปาง และโรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ เป็นความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการบริการผ่าตัดฝังรากฟันเทียม ส่วนกระทรวงวิทย์ฯ ดำเนินการผลิตรากฟันเทียมสนับสนุน นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า สำหรับผู้สูงอายุที่เข้าร่วมในโครงการนี้ จะคัดเลือกจากผู้สูงอายุ 80,000 รายทั่วประเทศ ในโครงการฟันเทียมพระราชทานของกระทรวงสาธารณสุข แต่มีปัญหาฟันเทียมหลุดง่าย เนื่องจากสันกระดูกขากรรไกรมีการละลายตัว ทำให้กระดูกขากรรไกแบนราบ ไม่สามารถรับกับร่องเหงือกเทียมได้ ทำให้ฟันปลอมเทียม ไม่สามารถใช้บดเคียวอาหารให้ได้ดี จึงต้องใช้วิธีการฝังรากฟันเทียมบริเวณขากรรไกรด้านล่าง 2 จุดเสริมให้ เพื่อเป็นตัวช่วยยึดฟันเทียมให้ติดแน่นขึ้น โดยมีเป้าหมายดำเนินการ 10,000 ราย รายละ 2 ราก รวม 20,000 ราก ระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี เริ่มตั้งแต่ตุลาคม 2550 ถึงเดือนกันยายน 2552 ใช้งบประมาณรวม 134 ล้านกว่าบาท ในปีแรกนี้ จะนำร่องฝังรากฟันเทียมในผู้สูงอายุ จำนวน 30 ราย ในทุกภาค โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ทำการสำรวจ คัดเลือกสถานพยาบาล ที่มีความพร้อม 7 แห่ง และจัดอบรมทันตแพทย์ในการใส่รากฟันเทียมไปแล้ว ประกอบด้วยภาคกลาง ที่สถาบันทันตกรรม ภาคเหนือ ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์และโรงพยาบาลศูนย์ลำปาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี และโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ภาคตะวันออกที่โรงพยาบาลศูนย์ชลบุรี ภาคใต้ ที่โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 ถึงเดือนธันวาคม 2550 นี้ จากนั้นในปี 2551-2552 จะขยายบริการในสถานบริการ ทั้งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและคณะทันตแพทยศาสตร์ รวม 30 แห่ง ให้บริการครบตามเป้าหมาย นายแพทย์ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การฝังรากฟันเทียม เป็นเทคโนโลยีด้านทันต กรรมขั้นสูง ต้องทำโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ที่ผ่านมาต้องนำเข้ารากฟันเทียมจากต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายสูงถึงรากละ 50,000-120,000 บาท ทำให้ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องรากฟันเข้าถึงบริการได้น้อย โดยโครงการนี้จะใช้รากฟันเทียมที่ผลิตในไทย โดยศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง(ADTEC) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กระทรวงวิทยาศาสตร์ มีคุณภาพดีได้มาตรฐานสากลราคา 5,000 บาท ถูกกว่าต่างประเทศ เกือบ 10 เท่าตัว ช่วยให้ผู้สูงอายุไทยที่ด้อยโอกาส ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยังช่วยประหยัดงบประมาณในการนำเข้ารากฟันเทียมจากต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งหากนำเข้าใช้ในโครงการจะต้องใช้งบสูงถึง 1,200 ล้านบาท สิงหาคม 1/10 ****************************** 7 สิงหาคม 2550


   
   


View 10    08/08/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ