กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย เร่งรณรงค์สร้างค่านิยม คนไทยอ่อนหวาน ใช้น้ำตาลซองไม่เกิน 4 กรัม ลดโรคอ้วน โรคเบาหวาน แนะผู้ป่วยเบาหวาน ใช้ความหวานจากพืชธรรมชาติทดแทน เผยคนไทยกินหวานจัด เฉลี่ยคนละเกือบ 30 กิโลกรัมต่อปี สูงกว่าเกณฑ์องค์การอนามัยโลก 3 เท่าตัว
วันนี้ (29 กันยายน 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย ผ.ศ.(พิเศษ) นายแพทย์ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะ ร่วมกันแถลงข่าวว่า
กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ บริษัทผู้ผลิตน้ำตาล ผู้ประกอบการโรงแรม/สถานที่จัดประชุม และภาคีเครือข่าย เร่งรณรงค์สร้างค่านิยม “คนไทยอ่อนหวาน ใช้น้ำตาลซองไม่เกิน 4 กรัม” ลดการบริโภคน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด ให้ได้วันละไม่เกิน 6 ช้อนชาหรือ 24 กรัม ทำครบวงจรตั้งแต่การผลิตจนถึงผู้บริโภค โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการผลิตน้ำตาลทรายบรรจุซอง 47 แห่ง ให้ผลิตน้ำตาลซองขนาด 4 กรัม และขอความร่วมมือโรงแรม สถานที่จัดประชุม ประมาณ 8,000 แห่ง หันมาใช้น้ำตาลซองขนาด 4 กรัมแทน คาดว่าจะช่วยลดความสูญเสียจากน้ำตาลปีละไม่ต่ำกว่า 174 ล้านบาท เนื่องจากมีผลสำรวจการจัดเครื่องดื่มงานประชุมในโรงแรม พบว่าผู้เข้าประชุมไม่สนใจปริมาณในซองน้ำตาล และมักใช้เพียง 1 ซอง บางคนใช้ไม่หมดซอง อีกทั้งการสำรวจในกลุ่มโรงแรมและกลุ่มผู้บริโภค เห็นด้วยกับมาตรการกำหนดขนาดน้ำตาลซอง 4 กรัม
ทั้งนี้ พบว่าคนไทยรับประทานน้ำตาลสูงมากเฉลี่ยปีละ 30 กิโลกรัมต่อคน หรือวันละ 20 ช้อนชา ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำกว่า 3 เท่าตัว ทำให้เกิดปัญหาโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น ในกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไปพบถึง 1 ใน 10 หรือ 5.5 ล้านคน ทำให้ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยน้ำตาลมีอยู่ในอาหารมื้อหลัก อาหารว่าง และชา กาแฟที่นิยมใส่น้ำตาลลดความขม หากคนไทยหันมาใช้น้ำตาลซอง 4 กรัม จะลดปริมาณน้ำตาลได้คนละประมาณ 3 กิโลกรัมต่อปี หรือเทียบเท่าพลังงานที่ใช้ในการเดินไป-กลับ กทม.-สระบุรี
ด้านนพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า อย. ได้จัดทำประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง การแสดงฉลากน้ำตาลทรายชนิดซอง เพื่อเป็นแนวทางการแสดงฉลากของผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายชนิดซอง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ กำหนดให้พิมพ์ข้อความภาษาไทยเห็นชัดเจนและอ่านง่าย ได้แก่ ชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต หรือผู้แบ่งบรรจุ หรือผู้นำเข้า น้ำหนักสุทธิ เดือนและปีที่ผลิต และพิมพ์ข้อความ “ควรบริโภคก่อน” กำกับไว้ด้วย โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการผลิตน้ำตาลซอง และสมาคมโรงแรมไทยเป็นอย่างดี
ด้านทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ อย. และกรมอนามัย ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปรับลดขนาดน้ำตาลบรรจุซองเพื่อลดการบริโภคหวานของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม มีสาระสำคัญภายใต้กรอบแนวคิดคือ ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนจากภาวะน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน รวมทั้งโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ด้วยการควบคุมการบริโภคน้ำตาลให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ รวมทั้งลดภาระค่าใช้จ่ายการจัดซื้อน้ำตาลบรรจุซองของผู้ให้บริการจัดประชุม และลดขยะเหลือทิ้ง โครงการดังกล่าวต้องทำได้ทันทีและส่งผลเชิงพฤติกรรมได้เร็ว ต้องใช้งบประมาณไม่มาก ไม่ต้องออกระเบียบหรือประกาศใหม่ สามารถใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 367 พ.ศ. 2557 ว่าด้วยการแสดงฉลากอาหารในภาชนะบรรจุได้ และจะรณรงค์สื่อสารให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลบรรจุซองต่อไป
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำโครงการอาหารว่างเพื่อสุขภาพ หรือเฮลท์ตี้มีทติ้ง (Healthy Meeting) เน้น 2 เรื่อง คือ 1.อาหารว่างที่ให้พลังงานต่ำกว่า 150 กิโลแคลอรีต่อวัน เช่น ผลไม้ ขนมที่ไม่หวานจัด และใช้น้ำตาลซอง 4 กรัม และ 2.มีการจัดกิจกรรมยืดเหยียดร่างกายคลายความเครียดระหว่างการประชุมด้วย ซึ่งขณะนี้มีภาคีเครือข่ายได้เข้าร่วมขับเคลื่อนรณรงค์แล้ว โดยภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย ในส่วนของภาคเอกชน ได้แก่ ร้านแบล็คแคนยอน จำนวนกว่า 200 สาขา และร้าน คาเฟ่ อเมซอน จำนวนกว่า 1,000 สาขา โดยร้านคาเฟ่ อเมซอน สาขาแรกที่ร่วมรณรงค์น้ำตาลซอง 4 กรัม คือสาขากรมอนามัย และจะขยายรณรงค์ทั่วประเทศในต้นปี 2559 ทั้งนี้ ประชาชนสามารถอ่านและดาวน์โหลดหนังสือ เฮลท์ตี้มีทติ้ง (Healthy Meeting) ได้ที่www.ebook.in.th/anamaibook/
ผ.ศ. (พิเศษ) นายแพทย์ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักตัว แนะนำให้ใช้ความหวานจากธรรมชาติหรือพืชสมุนไพร 3 ชนิด ได้แก่ 1.หญ้าหวาน ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 150-300 เท่า และไม่มีผลเพิ่มพลังงานแก่ร่างกาย 2.ชะเอมเทศ มีสารให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 50-100 เท่า โดยใช้รากหรือเนื้อไม้ชะเอมเทศบดใส่ในอาหาร ใส่หรือต้มลงในเครื่องดื่ม ไม่ควรใช้เกิน 50 กรัมต่อวัน ติดต่อกัน 6 สัปดาห์ เนื่องจากจะทำให้มีปัญหาน้ำคั่งในร่างกาย เกิดอาการบวมได้ จึงไม่ควรใช้ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงหรือมีภาวะโพแทสเซียมต่ำ และ3.น้ำตาลจากธรรมชาติ เช่น น้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลโตนด ซึ่งจะให้พลังงานน้อยกว่าน้ำตาลทราย โดยน้ำตาลมะพร้าว 1 ช้อนชา ให้พลังงาน 15 กิโลแคลอรี่ ขณะที่น้ำตาลทรายให้พลังงาน 20 กิโลแคลลอรี่
นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การรณรงค์ปรับลดปริมาณน้ำตาลเหลือซองละ 4 กรัมในครั้งนี้ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมให้ข้าราชการมีสุขภาพดี โดยปัจจุบันไทยมีข้าราชการพลเรือนทั้งสิ้น 358,735 คนทั่วประเทศ เมื่อคำนวณจากที่เคยใช้น้ำตาลซองละ 6 กรัม ปริมาณที่ลดลงซองละ 2 กรัม หากทุกคนประชุมเฉลี่ย 5 ครั้งต่อเดือน จะลดปริมาณการใช้น้ำตาลลง 3,587.35 กิโลกรัมต่อเดือน หากขยายนโยบายไปสู่การจัดประชุมสัมมนาอื่นๆ จะช่วยลดปริมาณการใช้ได้อีกจำนวนไม่น้อย และลดปัญหาโรคอ้วน จุดเริ่มต้นของโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือโรคเอ็นซีดี (NCDs) ที่เป็นสาเหตุการตายร้อยละ 63 ของการตายทั้งหมดของประชากรโลก
****************************************** 29 กันยายน 2558