กระทรวงสาธารณสุข แนะใช้เทศกาลกินเจเป็นโอกาสสร้างสุขภาพ ใช้หลัก “ละ เลือก ล้าง ลด” ให้อิ่มบุญ มีสุขภาพดี น้ำหนักไม่เพิ่ม โรคไม่กำเริบ เลี่ยงอาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ ของทอด ลดหวาน มัน เค็ม เผยผลสุ่มตรวจพบผักผลไม้มีสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างแนวโน้มลดลง อาหารเจร้อยละ4.3มีเนื้อสัตว์ปน คุมเข้มตลอดเทศกาล
วันนี้ (7 ตุลาคม 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย นางจุรีภรณ์ บุญยวงศ์วิโรจน์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และนพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ร่วมกันแถลงข่าว “กินเจ อิ่มบุญ อิ่มใจ สุขภาพดีด้วย 4 ล.” ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างภูมิต้านทานโรค ลดการเจ็บป่วย เทศกาลกินเจที่จะถึงในวันที่ 13 – 21 ตุลาคม 2558 เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนจะทำบุญถือศีล ด้วยการละเว้นจากการบริโภคเนื้อสัตว์หันมากินผัก ผลไม้ เพิ่มมากขึ้น ถือเป็นโอกาสดีในการสร้างสุขภาพ ช่วยลดความเสี่ยงป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แต่จะต้องกินให้ถูกหลักโภชนาการ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ในปีที่ผ่านมาพบว่า 1 ใน 4 ของผู้ที่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูงที่กินเจ ไม่สามารถควบคุมอาการได้ เนื่องจากอาหารเจที่จำหน่ายส่วนใหญ่ มักทำจากแป้ง เป็นอาหารทอด ไขมันสูง และเค็ม จึงทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
ในการกินเจให้อิ่มบุญ อิ่มใจ มีสุขภาพดี ขอแนะนำให้ยึดหลัก 4 ล. คือ 1.ละ กิเลส เลี่ยงการกินเนื้อสัตว์เทียม และหมี่กึงซึ่งทำมาจากแป้ง 2.เลือก กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ได้แก่ ข้าวกล้อง ธัญพืช กินเห็ด ถั่วต่างๆ เต้าหู้ ป้องกันการขาดโปรตีน และเพิ่มผัก ผลไม้ให้หลากหลาย หลากสี 3.ล้าง ผักผลไม้ให้สะอาดตามขั้นตอน ก่อนปรุง ก่อนกิน โดยล้างผ่านน้ำไหล 2 นาทีตามด้วยการแช่ในสารละลายเกลือ น้ำส้มสายชู ผงฟู ประมาณ 15 นาที หรือน้ำยาล้างผัก แล้วล้างตามด้วยน้ำชะสารละลายออกให้หมด จะขจัดเชื้อโรค และลดการปนเปื้อนสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างลงได้ร้อยละ 60 - 92 และ4.ลด อาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม ของทอด อาหารประเภทผัดน้ำมัน ปรุงรสจัด
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค สร้างความมั่นใจประชาชนในเรื่องความปลอดภัยและคุณภาพของวัตถุดิบในการปรุงอาหารเจ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้เฝ้าระวังสุ่มตรวจผัก ผลไม้ และอาหารเจ ในตลาดและโรงงานผลิตทั่วประเทศ ในกลุ่มผักและผลไม้ปีนี้มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ผลการตรวจในผัก 56,649 ตัวอย่าง พบยาฆ่าแมลงตกค้างร้อยละ 2.2 มากที่สุดคือ ใบบัวบก รองลงมาคือกระเทียม พริกแห้ง หอมแดง กะหล่ำดอก ส่วนในผลไม้ตรวจ 1,867 ตัวอย่าง พบยาฆ่าแมลงตกค้างร้อยละ 1.61 มากที่สุดคือส้ม รองลงมาคือแอปเปิ้ล ชมพู่ องุ่น แคนตาลูป ตามลำดับ
ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารเจที่นิยม เช่น ลูกชิ้นปลา ไส้กรอก โปรตีนเกษตร เนื้อหมูเทียม หมูแผ่นเทียม ปลาเค็ม หมูยอ แป้งหมี่กึงไส้หมู เนื้อเทียม เนื้อเห็ด ปลาหมึก ผลการตรวจเฝ้าระวังอาหารเจ จำนวน 69 ตัวอย่าง พบมีเนื้อสัตว์ผสมร้อยละ 4.3 ซึ่งจะมีการติดตามถึงแหล่งผลิตหรือนำเข้า หากตรวจพบดีเอ็นเอสัตว์ในอาหารที่ฉลากระบุ “อาหารเจ”จะเข้าข่ายอาหารปลอมทีมีฉลากปลอมที่มีฉลากเพื่อลวงต่อผู้บริโภค มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับไม่เกิน 5 พันบาทถึง 1 แสนบาท
สำหรับการเลือกซื้ออาหารเจที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย ขอให้ประชาชนสังเกตฉลาก จะต้องมีข้อความเป็นภาษาไทย และแสดงชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต ผู้แบ่งบรรจุ หรือผู้นำเข้า ส่วนประกอบอาหาร น้ำหนักสุทธิ วันเดือนปีที่ผลิต และหมดอายุหรือควรบริโภคก่อน ส่วนอาหารปรุงเสร็จ ขอให้ซื้อจากร้านและแผงลอยที่มีป้ายอาหารสะอาด รสชาติอร่อย ผู้ปรุง ผู้ให้บริการแต่งกายสะอาด สวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม และไม่ใช้มือหยิบอาหาร
************************ 7 ตุลาคม 2558