กระทรวงสาธารณสุขจับมือกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พัฒนาและส่งเสริมประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในระยะเร่งด่วนเร่งจัดทำระบบเก็บค่าประกันสุขภาพสำหรับชาวต่างชาติ ขยายเวลาพำนักในไทย กรณีเข้ารักษาพยาบาลกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และจีนจากเดิม 14-30 วัน เป็น 90 วัน ส่งเสริมธุรกิจบริการสุขภาพ จัดทำแพ็คเก็จสุขภาพ และพัฒนาสถานบริการรองรับนักท่องเที่ยว

วันนี้ (12 ตุลาคม 2558) ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กทม. ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประชุมคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาและส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical and Wellness Tourism) ครั้งที่ 1/2558 เพื่อพิจารณายุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ 10 ปี (พ.ศ.2559-2568)  และติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานทุก 3 เดือน 
ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่จัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อคนไทยทั้งประเทศ  การที่จะจัดบริการด้านสุขภาพสำหรับนักท่องเที่ยว จะเป็นการทำเพื่อสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย ช่วยทำให้การท่องเที่ยวของประเทศดีขึ้น  ยินดีให้ความร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารวมทั้งภาคีเครือข่าย  ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมในเรื่องบริการทางการแพทย์ที่ไทยไม่เป็นรองใครในภูมิภาคนี้  รวมทั้งบริการสุขภาพที่ไทยมีความโดดเด่นระดับโลก  ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาและส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยมีกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ  (พ.ศ.2559-2568)  4 ข้อ คือ 1. เพิ่มขีดความสามารถในการจัดบริการสุขภาพ  2.พัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการทุกระดับ 3.การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน/ผู้ประกอบการรายย่อย รองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และ 4.การส่งเสริมการตลาดและการประชาสัมพันธ์
สำหรับการดำเนินงานในระยะเร่งด่วน เพื่อให้เห็นผลภายใน 2 ปี พ.ศ.2559-2560 จะเร่งจัดทำระบบประกันสุขภาพสำหรับชาวต่างชาติ  (Landed Fee)  การพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อนนำร่อง 7 จังหวัด ขยายเวลาพำนักในไทย กรณีเข้ารักษาพยาบาลกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และจีน จาก 14-30 วัน เป็น 90 วัน  จัดทำแพ็คเก็จสุขภาพพัฒนาสถานบริการทั้งภาครัฐและเอกชน รองรับนักท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการเชิงสุขภาพ 
ทั้งนี้ การดำเนินงานพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นการบูรณาการกับกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนและเป็นไปตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อสภานิติบัญญัติ  โดยนโยบายด้านสาธารณสุขอยู่ในนโยบายที่ 5 การยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน  และอยู่ในคลัสเตอร์ที่ 4 ของนโยบายด้านการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศผลการดำเนินงาน ในปี 2557 มีชาวต่างชาติเข้ามารับบริการสุขภาพในประเทศไทย 1.2 ล้านครั้ง  สร้างรายได้เข้าประเทศ 107,000 ล้านบาท ปัจจัยหลักที่ไทยได้รับการยอมรับคือ ราคาเหมาะสม บริการมีคุณภาพ มาตรฐานสากล  บุคลากรเชี่ยวชาญ เทคโนโลยีทันสมัย คนอัธยาศัยดี และมีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม 
 **************************    12 ตุลาคม 2558


   
   


View 15    12/10/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ