กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนเสพข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข้อมูลใกล้ตัวอย่างเหมาะสม ไม่มากเกินไปจนกระทบร่างกายและจิตใจ ทั้งความเหนื่อยล้า ความเครียด นอนไม่หลับ จนโรคกำเริบ ที่สำคัญหากเป็นข้อมูลข่าวสารจากโซเชียล หรือไม่แน่ใจแหล่งที่มา ไม่ควรแชร์หรือส่งต่อในทันที ขอให้ตรวจสอบก่อนส่งต่อหรือเช็คข้อมูลก่อนแชร์ 

  นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สังคมในยุคปัจจุบันประชาชนเสพข้อมูลจากสื่อที่อยู่ใกล้ตัวทั้งจากวิทยุ ทีวี  คอมพิวเตอร์  รวมทั้งโทรศัพท์มือถือ  ที่อยู่ใกล้ชิดเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของร่างกาย ทำให้มีการเปิดรับข้อมูลข่าวสารตลอดเวลา ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2557 สำรวจการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน ในประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปประมาณ 62.3 ล้านคน พบว่า มีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 23.8 ล้านคนหรือร้อยละ 38.2 ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 21.7 ล้านคนหรือร้อยละ 34.9และผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ48.1 ล้านคนหรือร้อยละ 77.2 โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ที่น่าห่วงก็คือการรับข้อมูลที่มากเกินไปแล้ว จนทำให้ร่างกายเหนื่อยล้า สมองคิดตามทำงานตลอดเวลา เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเครียด    นอนไม่หลับ  ส่งผลให้ร่างกายทำงานผิดปกติ เช่น กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามากขึ้น ทำให้ปวดแสบท้อง หัวใจทำงานหนัก ความดันเลือดเพิ่มขึ้น เป็นต้น  และหากจ้องอยู่กับหน้าจอเป็นเวลานานกว่าสิบชั่วโมงในแต่ละวัน อาจนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพตา ไม่ว่าจะปวดตา ตามัว ตาแห้ง สายตาล้า สายตาสั้น อาจทำให้เกิดต้อกระจกขึ้นได้เร็วขึ้น 

ขอให้ประชาชนแบ่งเวลาในการรับข้อมูลข่าวสารให้เหมาะสม ทำชีวิตให้สมดุลไม่หมกมุ่นกับข่าวสารจนทำให้ร่างกายอ่อนล้า จนเกิดความเครียด ควรทำกิจกรรมอื่นๆ นอกจากการติดตามข้อมูลข่าวสาร  เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา  ฟังเพลง  รับประทานอาหาร รวมทั้งการพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง ร่างกายผ่อนคลาย จะช่วยให้สมองหลั่งสารเอนดอร์ฟีน (endorphine) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุข ขจัดความเครียด ช่วยให้นอนหลับสบาย

นอกจากนี้  ความรู้สึกว่าต้องการข่าวใหม่ๆเข้ามาเร้าความสนใจตลอดเวลา ทำให้บางคนรับข้อมูลโดยขาดการกลั่นกรองข้อเท็จจริง โดยเฉพาะการแชร์ข้อมูลลักษณะ ข่าวลือ ข่าวกระแส หรือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต แต่ถูกนำมาเผยแพร่ใหม่ทำให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องใหม่ หรือกำลังเกิดขึ้น หรือต่อเติมข้อความจากความคิดของตนเอง ให้ข้อมูลธรรมดากลายเป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจ  สร้างเรื่องที่ธรรมดาให้กลายเป็นเรื่องใหญ่  น่าสนใจ  ปรากฎการณ์แบบนี้ ทำได้ง่ายขึ้นในยุคเทคโนโลยีปัจจุบัน  ทั้งนี้ หากผิดพลาดไปจะส่งผลกระทบเสียหายในวงกว้างโดยเฉพาะข่าวลือที่อาจสร้างความเกลียดชังให้เพิ่มขึ้น ขอให้ตรวจสอบก่อนส่งต่อหรือเช็คข้อมูลก่อนแชร์ หากไม่แน่ใจข้อมูลจากโซเชียล หรือแหล่งที่มา ไม่ควรแชร์หรือส่งต่อในทันที
                                         *************   31 ตุลาคม 2558


   
   


View 10    31/10/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ