โรงพยาบาลเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย คว้ารางวัลโรงพยาบาลต้นแบบแห่งแรก พัฒนางานอนามัยแม่และเด็กในภาคเหนือ มีเครือข่ายดูแลแม่และลูกถึงชุมชน ทำให้เด็กทารกได้ดื่มนมแม่อย่างเดียวติดต่อกัน 6 เดือนสูงถึงร้อยละ 40 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศเกือบ 3 เท่าตัว เช้าวันนี้ (15 สิงหาคม 2550) ที่โรงแรมลิตเติ้ลดั๊ก จังหวัดเชียงราย นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดมหกรรมสร้างสุขวันแม่แห่งชาติ จังหวัดเชียงราย ประจำปี 2550 เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เนื่องในวันแม่แห่งชาติ พร้อมทั้งมอบรางวัลบุคลากรดีเด่นด้านการสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ อสม.ดีเด่น ศูนย์เด็กเล็กดีเด่น 18 รางวัล รางวัลสุดยอดคุณแม่ 1 รางวัล รางวัลบุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านอนามัยแม่และเด็กดีเด่น 1 รางวัล และรางวัลนวัตกรรมงานอนามัยแม่และเด็กดีเด่น ซึ่งมี 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลเวียงป่าเป้า โรงพยาบาลพญาเม็งรายและโรงพยาบาลเชียงแสน โดยโรงพยาบาลเวียงป่าเป้า ได้รับรางวัลชนะเลิศ เป็นโรงพยาบาลต้นแบบของการพัฒนางานอนามัยแม่และเด็ก แห่งแรกของภาคเหนือที่ขยายผลถึงชุมชนด้วย นายแพทย์วัลลภ กล่าวว่า ประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการวางแผนครอบครัว เพื่อควบคุมจำนวนประชากรในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา หากไม่มีพลัง อสม.ช่วยแก้ไขความเข้าใจผิดบางเรื่อง เช่นการทำหมัน ประเทศไทยจะมีประชากรถึง 85 ล้านคน ไม่ใช่ 64 ล้านคนเช่นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีเรื่องต้องปรับแก้อีกมาก โดยเฉพาะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งได้รับการยอมรับทั่วโลกว่าเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก แต่พบว่าหญิงไทยหลังคลอดซึ่งมีประมาณ 8 แสนคน เลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยมาก ผลสำรวจของสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย ปี 2549 พบมีเด็กแรกเกิดถึง 4 เดือน ได้กินนมแม่อย่างเดียวเพียงร้อยละ 20 ส่วนการเลี้ยงนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือนมีเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น จึงต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจแก่หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ เพื่อให้หันมาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มากขึ้น เนื่องจากนมแม่ได้รับการพิสูจน์ในวงการแพทย์ทั่วโลกว่าเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก และเป็นการสร้างสายใยผูกพันอันเหนียวแน่นระหว่างแม่กับลูกและครอบครัว โดยจะให้พลังอสม.ทั่วประเทศ 8 แสนกว่าคน เป็นช้างเท้าหน้าในการรณรงค์สร้างค่านิยมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้หญิงตั้งครรภ์ในทุกหมู่บ้านด้วย ทั้งนี้ ต้องขอชื่นชมโรงพยาบาลเวียงป่าเป้า ที่ประสบผลสำเร็จอย่างมากในงานอนามัยแม่และเด็ก โดยมีอัตราทารกดื่มนมมารดาอย่างเดียว 6 เดือนสูงถึงร้อยละ 40 นับเป็นต้นแบบของการพัฒนางานอนามัยแม่และเด็ก และเป็นตัวอย่างที่ดีของโรงพยาบาลทั่วประเทศ ทางด้านนายแพทย์สิทธิศักดิ์ คำศรีสุข ประธานงานอนามัยและเด็ก โรงพยาบาลเวียงป่าเป้า ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 การพัฒนางานอนามัยแม่และเด็กประจำปี 2550 ของจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า โรงพยาบาล เวียงป่าเป้ามีหญิงคลอดบุตรปีละ 400 ราย จากการประเมินข้อมูลงานอนามัยแม่และเด็ก โรงพยาบาลเวียงป่าเป้า ในปี 2548 พบปัญหาหญิงตั้งครรภ์มีการฝากครรภ์ครั้งแรกเมื่ออายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์เพียงร้อยละ 54 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดคือ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 และพบทารกดื่มนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนร้อยละ 10 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดคือ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 สาเหตุหลักเกิดจากหญิงตั้งครรภ์ขาดความรู้ความเข้าใจ ส่วนหนึ่งมาจากแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ไม่ชัดเจน อีกส่วนหนึ่งเกิดจากขาดการประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลจึงได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานรูปแบบใหม่ โดยจัดโครงการสานสายใยใส่ใจรัก ซึ่งมี 3 โครงการย่อย ได้แก่ 1. โครงการเครือข่ายแห่งรัก สร้างอาสานมแม่ในชุมชน เป็นที่ปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และออกเยี่ยมบ้านพร้อมเจ้าหน้าที่ ให้ความรู้หญิงตั้งครรภ์และหลังคลอด มีการสร้างมาตรฐานเครือข่ายงานอนามัยแม่และเด็กร่วมกัน ระหว่างโรงพยาบาลและสถานีอนามัยในอำเภอเวียงป่าเป้า และติดตามเยี่ยมเครือข่ายในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน จัดทำวารสารเครือข่ายงานอนามัยแม่และเด็กราย 2 เดือน เพื่อการสื่อสารในเครือข่าย จัดทำคู่มือการดูแลตนเองแจกให้หญิงตั้งครรภ์ ให้อสม.และสถานีวิทยุชุมชนช่วยเป็นกระบอกเสียง รณรงค์ให้หญิงตั้งครรภ์ฝากครรภ์ทันทีเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ และเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน เพิ่มบริการฝากครรภ์จาก 1 วันเป็น 2 วัน เพื่อลดระยะเวลารอคอยการฝากครรภ์ 2. โครงการต้นรัก ให้ความรู้หญิงตั้งครรภ์และญาติเป็นรุ่นๆ โดยให้เข้ากลุ่มเล่าประสบการณ์และแก้ไขปัญหาร่วมกัน เช่น เมื่อพบแม่เป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมียจะทำอย่างไร จะเลี้ยงลูกอย่างไรให้แข็งแรง พัฒนาการดี ทำอย่างไรให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือนได้ และจะเลี้ยงลูกอย่างไรให้ไอคิว 180 การกินอาหาร ความรู้เรื่องอาหารแสลง เป็นต้น และให้บริการปรึกษาทางทางโทรศัพท์ หลังจากนั้นจะให้กลุ่มร่วมกันปลูกต้นไม้ประจำรุ่นที่สวนในโรงพยาบาล เพื่อเป็นพันธะสัญญาต้นรัก โดยสมาชิกรุ่นแรกๆ จะนำต้นไม้มาปลูก และรุ่นหลังๆเป็นผู้ดูแลให้ และสมาชิกเหล่านี้จะช่วยกันดูแลและเก็บผลไม้กินได้ในอนาคต สุดท้ายเป็นโครงการปริญญารัก โดยจัดทำใบปริญญารักมอบให้เพื่อแสดงความยินดีในวันคลอด ซึ่งใบปริญญานี้ประกอบด้วย ภาพถ่ายประทับใจของหญิงมีครรภ์ สามี ลูก ญาติ และเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลขณะฝากครรภ์และทำคลอด มีชื่อ-สกุล ของลูก พ่อแม่ วันเดือนปีเกิด เวลาตกฟากของลูก น้ำหนักแรกคลอด ส่วนสูง และรอยประทับฝ่าเท้าของลูก ซึ่งโรงพยาบาลได้มอบให้กับครอบครัวเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจ เสมือนจบมหาวิทยาลัยชีวิต เนื่องจากหญิงมีครรภ์ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม จบการศึกษาประถมศึกษา ดังนั้น การได้สัมผัสปริญญาจึงเป็นความสุขอย่างหนึ่ง ช่วยสร้างกำลังใจและความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ให้สามารถดูแลลูกให้เติบโตเป็นคนดี นอกจากนี้ ยังมีการจดที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ของเด็กที่เกิดในวันเดียวกันหรือใกล้เคียงเหมือนในมหาวิทยาลัย ให้สามารถติดต่อกันได้ในอนาคต อันจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่เครือข่ายแห่งรักที่ไม่มีวันจบสิ้น ทำให้งานอนามัยแม่และเด็กประสบผลสำเร็จ โดยหญิงตั้งครรภ์ทุกรายได้รับความรู้และได้รับการตรวจจากแพทย์ครบร้อยละ 100 อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ติดต่อกัน 6 เดือนร้อยละ 40 และยังมีคลังนิทานคำเมืองของชุมชนในอำเภอเวียงป่าเป้า เพื่อถ่ายทอดคุณธรรมและวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ให้สมาชิกใหม่ของชุมชนได้สืบทอดต่อไปอีกด้วย ***************************** 15 สิงหาคม 2550


   
   


View 16    15/08/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ