กระทรวงสาธารณสุข เผยคนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานสาเหตุจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตถึงร้อยละ 98 ชวนคนไทย“กิน อยู่ เป็น”ลดความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี เลือกบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ และรับประทานอาหารเช้า จะช่วยป้องกันความเสี่ยงโรคเบาหวานได้ถึงร้อยละ 70
 
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกและสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก(World Diabetes Day)โดยกำหนดประเด็นรณรงค์ปี 2558 คือ “รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ” (Healthy eating) ซึ่งทั่วโลกมีผู้ป่วยเบาหวานมากกว่า 387 ล้านคน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดในปี 2573 มีผู้ป่วยโรคนี้ถึง 600 ล้านคน โดยในปี 2555 มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานประมาณ 1.5 ล้านคน ร้อยละ 80 อยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาโรคเบาหวาน และจัดการภาวะแทรกซ้อนในปี 2557 ประมาณ 21,420 พันล้านบาท  และประมาณการว่า หากมีการจัดการป้องกันการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพในแต่ละประเทศ ได้ถึงร้อยละ11
 
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากการตรวจร่างกายในผู้อายุ 15 ปีขึ้นไป พบโรคเบาหวาน 3.1 ล้านคน โดยในปี 2557 มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 11,389 คน เฉลี่ยวันละ 32 คน ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในสังกัด 698,720 ครั้ง ค่ารักษาปีละเกือบ 4,000 ล้านบาท ปัญหาของโรคนี้หากควบคุมอาการไม่ได้ จะเกิดภาวะแทรกซ้อน ทั้งเรื่องไตวาย เท้าเน่า ตาบอด โรคหัวใจ และหลอดเลือดสมองตามมา  กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย กำหนดประเด็นรณรงค์เนื่องในวันเบาหวานโลกปีนี้คือ  “กิน อยู่ เป็น” เนื่องจากปัญหาโรคเบาหวานที่พบในประเทศ ร้อยละ 98 เป็นเบาหวานชนิดที่ 2เกิดมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตซึ่งป้องกันได้ ในขณะที่เบาหวานชนิดที่ 1 ที่เกิดจากกรรมพันธุ์ พบเพียงร้อยละ 2 
 
ด้านนายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคเบาหวานที่เกิดมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตร้อยละ70 ป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี ขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกวัยลงมือเปลี่ยนชีวิตตั้งแต่บัดนี้ และทำวันนี้เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า สำหรับวิธีการปฏิบัติตัว คือ 1.การเลือกบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ จะช่วยให้ควบคุมเบาหวานได้สำเร็จโดยเลือกดื่มน้ำสะอาด กินผักอย่างน้อย 3 มื้อต่อวัน หรือ 400 กรัมต่อวัน กินอาหารจำพวกถั่ว ธัญพืช ผลไม้รสไม่หวาน กินเนื้อไม่ติดมัน ข้าวไม่ขัดสี ข้าวกล้อง ไขมันไม่อิ่มตัวเช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันข้าวโพด น้ำมันทานตะวัน แทนน้ำมันอิ่มตัว เช่น เนย ไขมันจากสัตว์ น้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันปาล์ม 
 
2.กินอาหารเช้าทุกวัน จะช่วยควบคุมความอยากอาหาร ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละอย่างน้อย 3 วัน วันละ ไม่น้อยกว่า 30 นาที ตรวจสุขภาพประจำปี ส่วนผู้ป่วยเบาหวาน ให้ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำแพทย์ และตามแพทย์นัด เพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามมา เช่นโรคไต ตาต้อกระจก เป็นต้น นายแพทย์อำนวยกล่าว
 
ทั้งนี้ โรคเบาหวาน เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ ทำให้น้ำตาลไม่สามารถเข้าสู่เซลล์ในร่างกายได้ตามปกติ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงเกิน ในระยะยาวจะมีผลในการทำลายหลอดเลือด ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่สภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
 
****************************** 13 พฤศจิกายน2558


   
   


View 20    13/11/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ