กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์ไข้เลือดออกภาพรวมของประเทศลดลง ที่น่าห่วงคือช่วงฤดูฝนของภาคใต้ ประชาชนป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ด้วยตัวเอง หากพบมียุงบินในบ้าน เป็นสัญญาณเตือนว่ามีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอยู่ในบ้านแน่นอน ให้รีบค้นหาแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและกำจัดทันที

วันนี้ (25 พฤศจิกายน 2558) นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก ว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกขณะนี้ในภาพรวมของประเทศลดลง ข้อมูลจากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ 1มกราคม-17 พฤศจิกายน 2558 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยไข้เลือดออก 111,826 คน เสียชีวิต 108 ราย โดยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วย 4,262 คน เสียชีวิต 2 ราย ภาคกลางพบผู้ป่วยเป็นอันดับ 1 จำนวน 51,576 คน รองลงมาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 30,552 คน ภาคเหนือ 20,577 คน และภาคใต้ 9,121 คน อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่ยังมีฝนตก โดยเฉพาะภาคใต้ที่เป็นช่วงฤดูฝน หากการควบคุมป้องกันไม่เข้มแข็ง อาจมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและจำนวนยุงลายเพิ่มมากขึ้น

การป้องกันโรคไข้เลือดออกวิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้ป่วย ประชาชนป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ด้วยตัวเอง หากพบมียุงบินในบ้าน เป็นสัญญาณเตือนว่ามีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอยู่ในบ้านแน่นอน ขณะนี้ทุกบ้านส่วนใหญ่มีมุ้งลวดป้องกันยุง ไม่มีภาชนะเก็บน้ำในบ้าน แต่ยังมีแหล่งที่ยุงลายวางไข่ได้ เช่น จานรองน้ำของเครื่องทำน้ำเย็น แจกันดอกไม้ กระถางไม้น้ำ ต้องหมั่นตรวจสอบ หากพบลูกน้ำยุงลายที่บ้าน ต้องกำจัดทันทีไม่ปล่อยทิ้งไว้จนกลายเป็นตัวยุง และดูแลบ้านเรือนไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ติดมุ้งลวดที่ห้องนอน และป้องกันตัวเองไม่ให้ยุงกัด โดยสวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ใช้ยาทากันยุง นอนในมุ้ง

นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า กำชับให้ทุกจังหวัดดำเนินการมาตรการ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วย  การควบคุมป้องกันโรค และลดการเสียชีวิต ดังนี้ 1.ลดการป่วยและการป้องกันโรค โดยขอความร่วมมือประชาชนใช้มาตรการ 5 1  ได้แก่ ปิดฝาภาชนะกักเก็บน้ำทุกชนิด เปลี่ยนน้ำทุกๆ 7 วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะกักเก็บน้ำ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมเพื่อไม่ให้เป็นที่เพาะพันธุ์ของยุง ปฏิบัติตนเองจนเป็นนิสัย และขัดภาชนะที่อาจมีคราบไข่ยุงเกาะอยู่  2.ควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาดต่อหลังมีผู้ป่วย ด้วยมาตรการ 3-3-1 โดยเมื่อพบผู้ป่วย ให้รายงานโรคให้หน่วยควบคุมโรคของพื้นที่ภายใน 3 ชั่วโมง ให้อาสาสมัครสาธารณสุขออกกำจัดลูกน้ำยุงลายที่บ้านและในชุมชนของผู้ป่วยภายใน 3 ชั่วโมง และให้ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงควบคุมโรคในพื้นที่ภายใน 1 วัน เพื่อพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวแก่ในรัศมี 100 เมตร ป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นในพื้นที่เดิมซ้ำอีก  

3.การรักษา เพื่อลดการเสียชีวิต ให้โรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัด ตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก และดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ป้องกันไม่ให้ยุงกัดผู้ป่วย  จัดระบบส่งต่อผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพรวดเร็ว อบรมฟื้นฟูแพทย์ในพื้นที่เป็นประจำ เพื่อให้มีความชำนาญในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรค รวมทั้งมีระบบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในจังหวัด เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาด้านการรักษาในโรงพยาบาลชุมชนอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง ประชาชนหากป่วยมีไข้สูงลอย กินยาแล้วไข้ไม่ลด อาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ให้คิดถึงโรคไข้เลือดออก รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการรักษาต่อเนื่องให้พ้นระยะอันตราย คือช่วงที่ไข้เริ่มลดที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะช็อค สังเกตจากผู้ป่วยจะซึมลง อ่อนเพลีย อาจมีเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน หรือถ่ายอุจจาระสีดำ ต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว หากช้าอาจเสียชีวิตได้

     *************** 25 พฤศจิกายน 2558



   
   


View 12    25/11/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ