รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์ไข้เลือดออกปีนี้รุนแรงกว่าในปี 2549 โดยพบการระบาดใน 62 จังหวัด ยอดผู้ป่วยสะสมในรอบ 7เดือนเศษมีกว่า 3 หมื่นราย สถานการณ์ยังน่าห่วงใน 20 จังหวัด สั่งการมิสเตอร์ไข้เลือดออกทั่วประเทศเข้มมาตรการควบคุมป้องกันอย่างใกล้ชิด ต่อเนื่อง นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์ไข้เลือดออก ว่า สถานการณ์โรคในปีนี้นับว่ารุนแรงกว่าปี 2549 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 4 สิงหาคม 2550 รวม 7 เดือนเศษ มีผู้สงสัยป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกทั้งสิ้น 32,082 ราย เสียชีวิต 33 ราย เพิ่มสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2549 ร้อยละ 31 ซึ่งมีผู้ป่วย 24,490 ราย เสียชีวิต 29 ราย ในภาพรวมทั้งประเทศ มีการระบาดโรคไข้เลือดออกแล้ว 62 จังหวัด จากทั้งหมด 76 จังหวัด หรือร้อยละ 82 นายแพทย์มรกตกล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้มิสเตอร์ไข้เลือดออกทุกจังหวัด เข้มมาตรการเฝ้าระวัง ควบคุมป้องกันโรคอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง หากพบผู้ป่วยสงสัยว่าป่วยเป็นไข้เลือดออกต้องรายงานภายใน 24 ชั่วโมง และค้นหาแหล่งแพร่เชื้อ เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา จังหวัดที่มีอัตราป่วยจากโรคไข้เลือดออกสูง ส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ ซึ่งเกิดการระบาดแล้ว 13 จังหวัดจาก 14 จังหวัด จังหวัดที่ยังไม่ระบาดคือระนอง รองลงมาได้แก่ ภาคภาคกลางระบาด 19 จังหวัดจาก 26 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือระบาด 17 จังหวัดจาก 19 จังหวัด และภาคเหนือระบาด 13 จังหวัดจาก 17 จังหวัด ขณะนี้ยังระบาดอยู่ใน 20 จังหวัด ได้แก่ น่าน กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ระยอง เลย กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม อำนาจเจริญ พัทลุง กระบี่ ภูเก็ต ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล สงขลา และมี 5 จังหวัดเสี่ยงที่อาจเกิดการระบาดได้ ได้แก่ จังหวัดลำพูน อ่างทอง ลพบุรี เพชรบุรี และชลบุรี เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นายแพทย์มรกตกล่าวต่อไปว่า ขอให้ประชาชนหมั่นตรวจสอบและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ภายในบ้านและบริเวณรอบๆบ้านบ่อย ๆ อย่างน้อยทุก 7 วัน โดยเฉพาะในแจกันดอกไม้ แจกันใส่ไม้ประดับ จานรองกระถางไม้ประดับ แก้วน้ำแจกันที่หิ้งพระหรือศาลพระภูมิ เพื่อไม่ให้ลูกน้ำกลายเป็นตัวยุงลายซึ่งจะลดจำนวนยุงลายพาหะนำโรคไข้เลือดออก หากไม่มียุงลายก็ไม่มีโรคไข้เลือดออก โดยยุงตัวเมียสามารถวางไข่ได้ครั้งละประมาณ 200 ฟอง และป้องกันไม่ให้ยุงกัด นอนในมุ้งหรือในห้องที่มีมุ้งลวด ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้เลือดออก โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบเชื้อที่ระบาดมีทั้ง 4 สายพันธุ์ โดยพบสายพันธุ์ที่ 1 มากที่สุดร้อยละ 60 เหมือนกับปี 2549 รองลงมาคือสายพันธุ์ที่ 4 ร้อยละ 18 สายพันธุ์ที่ 2 และ 3 พบอย่างละร้อยละ 11 เท่ากัน สายพันธุ์ชนิดที่ 1 นี้ ไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ที่ 2 แต่อย่างไรก็ตามจำนวนการป่วยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากฝนยังตกชุก ได้กำชับหน่วยสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วทั่วประเทศซึ่งมีกว่า 1,500 ทีม เร่งสอบสวนควบคุมโรค โดยกรมควบคุมโรคได้ให้ทุกจังหวัดรายงานผู้ป่วยที่มีอาการสงสัยไข้เลือดออกภายใน 24 ชั่วโมง และให้สอบสวนยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยไข้เลือดออกหรือไม่ทุกราย โดยให้ค้นหาแหล่งติดเชื้อให้ได้ว่า เป็นการติดเชื้อในพื้นที่หรือจากพื้นที่อื่น เพื่อควบคุมไม่ให้โรคแพร่ระบาด และหากพบผู้ป่วยเกิดขึ้นในหมู่บ้านเดียวกันหลังจากพบรายแรกประมาณ 10-14วัน ให้สอบสวนโรคว่าเป็นการติดเชื้อมาจากผู้ป่วยรายแรกหรือติดจากพื้นที่อื่น เพื่อประเมินผลการควบคุมโรคในพื้นที่นั้น ๆ อย่างไรก็ดี หากมีบุคคลในบ้านไม่ว่าเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ มีไข้สูงลอยติดต่อกันประมาณ 3 วัน ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก กินยาแล้วไข้ไม่ลด เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ให้สงสัยว่าอาจป่วยเป็นไข้เลือดออก โดยเฉพาะเด็กๆต้องระวัง 2 ช่วงคือช่วงไข้สูงมาก ตัวร้อนจัด ให้ใช้ผ้าชุบน้ำธรรมดา เช็คตัว เพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกาย ซึ่งจะทำให้ไข้ลดลงเร็วกว่าการกินยา และอีกช่วงหนึ่งจะเป็นช่วงหลังไข้ลดลง ต้องระวังเรื่องอาการช็อก ซึ่งพบได้ประมาณ 1 ใน 3 อาการที่สำคัญ เด็กจะมีอาการซึมลง กระสับกระส่าย หรือปวดท้องกะทันหัน ร้องกวน กระหายน้ำ ปัสสาวะน้อยลง เป็นสัญญาณอันตรายของอาการช็อก ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที แต่หากหลังเด็กฟื้นไข้แล้วมีอาการสดชื่น กินอาหารได้ แสดงว่ากำลังจะหายจากอาการป่วยจากโรคไข้เลือดออก ****************************** 20 สิงหาคม 2550


   
   


View 10    20/08/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ