กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันไทยทำซีแอลถูกต้องตามกฎกติการะหว่างประเทศ เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยเอดส์ที่ไม่มีโอกาสได้รับยาตามความจำเป็น ประกาศจุดยืน จะไม่สละสิทธิการทำซีแอล ขณะนี้ไทยประสบผลสำเร็จในการเข้าถึงยาเอดส์ อัตราการเสียชีวิตผู้ป่วยเอดส์ที่รักษาในโรงพยาบาลลดลงถึงร้อยละ 80 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เช้าวันนี้ (24 สิงหาคม 2550) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐหรือซีแอล (CL:Compulsory Licensing) แถลงข่าวร่วมกับนายจอน อึ้งภากรณ์ เลขาธิการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ภายหลังการประชุมปรึกษาหารือร่วมกับ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เพื่อพิจารณาและกำหนดท่าทีของประเทศไทยต่อจดหมายของนายราล์ฟ บอยซ์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ที่ส่งจดหมายถึงพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ขอให้ไทยยุติการทำซีแอล นายแพทย์วิชัย กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ได้ผลสรุป 5 ประเด็นคือ 1. ประเทศไทยยึดมั่นในข้อผูกพันตามข้อตกลงสำหรับทรัพย์สินทางปัญญา ภายใต้องค์การการค้าโลกและคำประกาศโดฮา ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งกำหนดให้พิจารณาเป้าหมายด้านสุขภาพเหนือเป้าหมายทางการค้า 2. รัฐบาลไทยมีพันธะผูกพันต่อประชาชนไทย ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่จะต้องให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงยา ตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ด้วยมาตรการต่าง ๆ หลายประการ เช่น การระดมงบประมาณเพิ่มขึ้น การใช้ยาอย่างเหมาะสม รวมทั้งการใช้มาตรการยืดหยุ่น ภายใต้ข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญา คำประกาศโตฮา และ พ.ร.บ.สิทธิบัตรของไทย 3. ประเทศไทยมีนโยบายที่จะใช้ข้อยืดหยุ่นตามข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญา คำประกาศโดฮา และ พ.ร.บ.สิทธิบัตรของไทย เฉพาะกรณีที่จำเป็น เพื่อบรรลุเป้าหมายการเข้าถึงยาที่จำเป็นของประชาชน ตามสิทธิภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยไม่มีการดำเนินการอย่างพร่ำเพรื่อและไม่จำเป็น โดยจะกระทำด้วยความรอบคอบ พิจารณาผลการปฏิบัติอย่างเหมาะสม 4. อำนาจในการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรเป็นอำนาจของรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และอธิบดี ของกระทรวง ทบวง และกรมต่าง ๆ ที่จะดำเนินการใช้อำนาจนั้น เพื่อประโยชน์สาธารณะ ในกรณีที่จำเป็น เช่น การขยายการเข้าถึงยาที่จำเป็นของประชาชน ดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะประกาศหรือผูกพันต่อบุคคลหรือประเทศใด ๆ ว่า ประเทศไทยจะไม่มีการใช้การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาไม่ว่ากรณีใด ๆ เพราะหากมีการประกาศเช่นนั้น จะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการใช้อำนาจที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ และสุขภาพของประชาชน และ 5.ไม่เคยมีประเทศใดหรือรัฐบาลใดในโลก ประกาศสละสิทธิในการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิยา ตรงกันข้าม ประเทศที่พัฒนาแล้วกลับมีการใช้มาตรการดังกล่าวมากกว่าประเทศที่กำลังพัฒนา นายแพทย์วิชัยกล่าวต่อว่า จะนำข้อสรุปที่ได้ในการประชุมวันนี้ เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ทางด้านนายจอน อี้งภากรณ์ เลขาธิการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับที่กระทรวงสาธารณสุขจัดประชุมและกำหนดท่าทีของไทยชัดเจนว่า จะไม่สละลิทธิในเรื่องการทำซีแอล เนื่องการทำซีแอลของไทยเป็นการช่วยชีวิตให้คนไทยที่ไม่สามารถเข้าถึงยาได้ใช้ยา มีตัวเลขยืนยันค่อนข้างชัดเจนว่าผู้ป่วยโรคเอดส์ เสียชีวิตลดลงถึง ร้อยละ 80 ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับยาต้านไวรัสเอดส์ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ได้รับยาต้านไวรัสก็มีปัญหาดื้อยาด้วย จึงมีความจำเป็นต้องใช้ยาที่มีประสิทธิภาพและติดสิทธิบัตร และยืนยันว่าประเทศไทยทำถูกต้องตามกฎกติกาสากล มีความโปร่งใส และทำตามขั้นตอน พร้อมให้การสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขอย่างเต็มที่ สิงหาคม6/9-10 ****************************** 24 สิงหาคม 2550


   
   


View 9    24/08/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ