นายกรัฐมนตรี ขอความร่วมมือประชาชนรณรงค์กวาดล้างยุงลาย ใช้มาตรการ 3 เก็บ เก็บบ้าน เก็บขยะ และเก็บน้ำ ป้องกัน 3 โรค คือ ไข้เลือดออก ไข้ติดเชื้อซิกา และไข้ปวดข้อยุงลาย เน้นป้องกันโรคล่วงหน้าจัดการสิ่งแวดล้อมควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้ได้มากที่สุด พร้อมเปิดตัวแอพพลิเคชั่นพิชิตลูกน้ำยุงลาย
วันนี้ (9 กุมภาพันธ์ 2559) ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค รณรงค์กวาดล้างยุงลาย กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย พร้อมเปิดตัวแอพพลิเคชัน (Application) พิชิตลูกน้ำยุงลาย
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีความห่วงใยพสกนิกร ทรงมีกระแสพระราชดำรัส ความว่า “โครงการปราบยุงลายคั่งค้างมานานแล้ว และอันตรายยังมีอยู่มาก อยากให้ปราบปรามอย่างจริงจัง อันตรายจากไข้เลือดออกจะได้ทุเลาลง” จึงขอความร่วมมือหน่วยงานทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมมือกันอย่างจริงจัง ในการป้องกันยุงลายไม่ให้เกิด และไม่ให้ยุงลายกัด โดยเริ่มต้นจากที่บ้านเพราะยุงลายอยู่ตามบ้าน ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้บัญชาการให้หน่วยงานในพื้นที่ ดำเนินการตามมาตรการ “3 เก็บ 3 โรค”ได้แก่ เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก เก็บขยะเศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย และเก็บน้ำ ปิดให้มิดชิดหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
ด้านศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2558 พบผู้ป่วยไข้เลือดออก 142,925 คน เสียชีวิต 141 ราย แม้อัตราป่วยตายจะไม่มากแต่การเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเยาวชน และหากควบคุมไม่อยู่ จะส่งผลกระทบต่อสังคม และเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวได้ ส่วนโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งตอนนี้ระบาดมากที่ทวีปละตินอเมริกาและแถบแคริเบียนในหลายประเทศ โดยเฉพาะบราซิลและโคลัมเบีย แม้ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยปีละไม่มากนัก แต่ต้องเฝ้าระวังตามที่องค์การอนามัยโลกประกาศแจ้งเตือน โรคนี้อาการไม่รุนแรง มักหายได้เอง แต่เป็นอันตรายในผู้หญิงมีครรภ์ ที่ส่งผลต่อเด็กในครรภ์ทำให้ศีรษะเล็กไม่สมบูรณ์ สำหรับโรคไข้ปวดข้อยุงลาย มียุงลายเป็นพาหะนำโรคเช่นกัน ปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วย 24 ราย ใน 8 จังหวัดทางใต้และภาคกลาง แม้พบผู้ป่วยไม่มากแต่ก็ต้องเฝ้าระวังเพราะเมื่อป่วยจะมีอาการปวดข้อ ปวดเมื่อยไปทั้งตัวส่งผลให้ทำงานไม่ได้ ไม่ทำให้ถึงตายแต่ป่วยจะเรื้อรังหลายเดือน
จากการพยากรณ์โรคไข้เลือดออกปี 2559 คาดจะมีผู้ป่วยไข้เลือดออกประมาณ 166,000 โดยมีพื้นที่เสี่ยงใน 228 อำเภอ 56 จังหวัด ดังนั้น มาตรการการป้องกันจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในปี 2559 ได้วางมาตรการป้องกันโรคไข้เลือดออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ 1.ระยะก่อนการระบาด ตั้งแต่มกราคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงโอกาสทองที่โอกาสการแพร่โรคเกิดน้อย สามารถป้องกันโรคล่วงหน้า ด้วยการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้ได้มากที่สุด โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของเครือข่าย และประชาชน 2.ระยะระระบาด เริ่มตั้งแต่ พฤษภาคม-สิงหาคม เน้นมาตรการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน เตรียมความพร้อมทั้งด้านการรักษา อุปกรณ์ และทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว เปิดศูนย์ปฏิบัติการ(War Room)เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการสั่งการและแก้ไขปัญหา ตลอดจนควบคุมโรคได้อย่างทันเวลาในพื้นที่ที่มีการระบาดและไม่ให้เกิดการระบาดในวงกว้าง และออกให้ความรู้ในการป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง
ด้านนพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เพื่อเป็นการช่วยป้องกันโรคไข้เลือดออกและกำจัดลูกน้ำยุงลาย กระทรวงสาธารณสุขจึงเปิดแอพพลิเคชัน“พิชิตลูกน้ำยุงลาย”เป็นโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยประชาชนประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคไข้เลือดออก ด้วยข้อมูลที่ได้จากการสำรวจความชุกชุมของลูกน้ำยุงลายในบ้านตนเอง แบบเข้าใจง่าย และมีฟังก์ชั่นรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ตรวจสอบเพื่อประสานทีมสอบสวนโรคในพื้นที่ลงเยี่ยมบ้าน ทำการสำรวจลูกน้ำยุงลาย และกำจัดยุงลาย เพื่อป้องกันควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดขึ้นในชุมชน นอกจากนี้ ภายในแอพพลิเคชันยังมีส่วนของการให้ความรู้เกี่ยวกับไข้เลือดออกที่สำคัญแก่ประชาชนเช่น การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้าน และอาการโรคไข้เลือดออก รวมทั้งการแจ้งพบผู้ป่วยไข้เลือดออกในระยะ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน"พิชิตลูกน้ำยุงลาย”ได้ในเพลย์สโตร์(Play Store)ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์(Android)หากทุกคน ทุกบ้านร่วมมือกันจะช่วยลดยุงลายในบ้าน ในชุมชนของตนเองได้เป็นอย่างดี และลดโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ หากประชาชนมีข้อแนะนำหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1422 กรมควบคุมโรค ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กุมภาพันธ์2/1-2 ********************************* 9 กุมภาพันธ์ 2559