กระทรวงสาธารณสุข เร่งคัดกรองโรคไตเรื้อรัง พร้อมเปิดคลินิกชะลอไตเสื่อมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยใน 5 จังหวัดเขตสุขภาพที่ 2 ตั้งเป้าคัดกรองโรคไตเรื้อรังในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป 1 ล้านคน ภายในพฤษภาคมนี้ เน้นค้นพบเร็ว รักษาเร็ว ถูกจุด พร้อมเปิดคลินิกชะลอไตเสื่อมเต็มพื้นที่  แนะ 5 ข้อควรปฏิบัติชะลอไตเสื่อม ยืดอายุไตให้นาน คือ ดื่มน้ำมากๆ หลีกเลี่ยงยาแก้ปวดเป็นเวลานาน หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม หลีกเลี่ยงยาและอาหารเสริมที่ไม่มีทะเบียน รวมทั้งงดเหล้า บุหรี่

          
   วันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2559) ที่ โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก จ.พิษณุโลก ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 เปิดการรณรงค์คัดกรองโรคไตและมอบสื่อประชาสัมพันธ์ต้นแบบ 5 ข้อ ปฏิบัติชะลอไตเสื่อม ให้กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ในเขตสุขภาพที่ 2
          
   ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า คนไทยเกิดภาวะแทรกซ้อนไตเรื้อรังประมาณ 7.6 ล้านคน ซึ่งมีสาเหตุจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ในจำนวนนี้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายกว่า 70,000 คน ต้องฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง สร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วย รัฐบาลรับผิดชอบค่ารักษาปีละกว่า10,000 ล้านบาท กระทรวงสาธารณสุขเล็งเห็นความสำคัญ มีนโยบายให้โรงพยาบาลทุกแห่งจัดตั้งคลินิกชะลอไตเสื่อม (CKD Clinic) ดูแลผู้ป่วยโรคไตแบบครบวงจรจากทีมสหวิชาชีพ ช่วยยืดเวลาการเสื่อมของไต ด้วยการคัดกรองประชาชนอายุ 40 ปีขึ้นไป เพื่อค้นหาผู้ป่วยหรือผู้มีความเสี่ยงของโรคไต พบเร็ว รักษาเร็ว จะลดการป่วยและเสียชีวิต พร้อมมี 5 ข้อ ปฏิบัติชะลอไตเสื่อม คือ 1.ดื่มน้ำมากๆ 2.หลีกเลี่ยงกินยาแก้ปวดเป็นเวลานาน 3.งดเหล้า บุหรี่   4.หลีกเลี่ยงรสเค็ม และ 5.หลีกเลี่ยงยาและอาหารเสริมที่ไม่มีทะเบียน

   สำหรับเขตสุขภาพที่ 2 ประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัยและอุตรดิตถ์ มีกลุ่มเป้าหมายอายุ 40 ปีขึ้นไปกว่า 1 ล้านคน คาดว่าจะตรวจคัดกรองครบ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ หากพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง จะตรวจเลือดและโปรตีนในปัสสาวะเพื่อให้ทราบระยะของการป่วย และเตรียมบุคลากรในการดูแลรักษาทันที เป็นการรักษาถูกจุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลดีต่อผู้ป่วย โดยผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในระยะที่ 1-2 จะเน้นดูแลใกล้บ้าน ด้วยทีมหมอครอบครัวจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หากเป็นระยะที่ 3 ขึ้นไป จะเข้ารับการรักษาโดยคลินิกชะลอไตเสื่อมที่โรงพยาบาลชุมชน ซึ่งเขตสุขภาพที่ 2 มีคลินิกชะลอไตเสื่อมครอบคลุมเต็มพื้นที่แล้ว ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการ ไม่ต้องเดินทางไปรักษาโรงพยาบาลในเมือง
                       
กุมภาพันธ์2/5 ************************* 11 กุมภาพันธ์ 2559
 


   
   


View 14    11/02/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ