กระทรวงสาธารณสุขให้บริการเชิงรุกดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงจากหน่วยบริการปฐมภูมิ พร้อมสร้างผู้ดูแลผู้สูงอายุ สนับสนุนให้คนในครอบครัวเป็นอาสาสมัครประจำครอบครัว ช่วยดูแลผู้สูงอายุให้ครอบคลุมต่อเนื่อง และกลับมาพึ่งตนเองได้พร้อมขยายบริการให้ครอบคลุมครบทุกตำบลในปี 2561
 
วันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2559) ที่โรงแรมรามา การ์เด้นท์ กทม. ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล  สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดประชุมพัฒนาการดำเนินงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ตำบล Long Term Care “รวมพลังขับเคลื่อน สังคมผู้สูงวัย เข้าใจ เข้าถึง พึ่งได้” ภาคกลาง โดยมีผู้บริหารจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และผู้รับผิดชอบงานการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว ทั้งในระดับเขต จังหวัด และพื้นที่ และเครือข่าย จำนวนประมาณ 1,600 คน ร่วมประชุม
 
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ภายในปี 2568 นี้ จะมีผู้สูงอายุประมาณ 14.4 ล้านคน ดังนั้นการจัดการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวจึงเป็นเรื่องสำคัญ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำโครงการพัฒนาระบบดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุข สำหรับสูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ตำบล (Long Term Care) จัดระบบการดูแลที่มีประสิทธิภาพ ยั่งยืน เป็นบริการเชิงรุกให้บริการถึงบ้าน เน้นการส่งเสริมสุขภาพและดูแลผู้สูงอายุให้ได้รับการดูแลจากทีมสหวิชาชีพ จากหน่วยบริการปฐมภูมิอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ มีการจัดอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) หลักสูตร 70 ชม. เช่น การช่วยเหลือผู้สูงอายุเบื้องต้น การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ และการใช้ยาในผู้สูงอายุ เป็นต้น เพื่อดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ตำบลละไม่น้อยกว่า 10 คน ซึ่งคนกลุ่มนี้ จะเป็นกำลังสำคัญในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ขณะนี้ได้อบรมไปแล้วทั่วประเทศประมาณ 5,000 คน พร้อมทั้งส่งเสริมให้คนในครอบครัวผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง เป็นอาสาสมัครประจำครอบครัว (อสค.) เพื่อช่วยดูแลผู้สูงอายุให้ครอบคลุมต่อเนื่อง และกลับมาพึ่งตนเองได้
 
ในปี 2558 กระทรวงสาธารณสุขตรวจคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุจำนวน 6,394,022 คน พบเป็นกลุ่มติดสังคมประมาณ 5 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง กลุ่มติดบ้าน ติดเตียง ที่ต้องได้รับการบริการด้านสุขภาพและสังคมประมาณ 1.3 ล้านคน สำหรับภาคกลางมีผู้สูงอายุประมาณ 2,500,000 คน ในกทม. 9 แสนคน มีผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงไม่ต่ำกว่า 250,000 คน ในกทม. 100,000 คน จากการสำรวจพื้นที่เป้าหมาย 210 ตำบล พบประชากรสูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงประมาณ 30,000 คน โดยในปี 2559 จะดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงทั่วประเทศ 100,000 คนในพื้นที่ 1,000 ตำบล และจะขยายให้ครอบคลุมครบทุกตำบล 100 เปอร์เซ็นต์ในปี 2561
 
 
          ********************************   18 กุมภาพันธ์ 2559
 


   
   


View 17    18/02/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ