“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 138 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เข้มมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาต่อเนื่อง กำชับนายแพทย์สาธารณสุขทั่วประเทศ รณรงค์ขอประชาชนร่วมมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรคจากยุงลายทุกสัปดาห์ พร้อมกำชับทุกโรงพยาบาลเมื่อพบผู้ป่วยสงสัย ให้ดำเนินการควบคุมโรคทันทีด้วยมาตรการ 3-3-1 คือแจ้งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วภายใน 3 ชั่วโมง ทีมสอบสวนโรคลงสอบสวนโรคภายใน 3 ชั่วโมง และดำเนินการควบคุมโรค พ่นยาฆ่ายุงลายในรัศมี 100 เมตร ภายใน 1 วัน
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานศูนย์เตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับมาตรการเฝ้าระวัง ควบคุมป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา และให้สัมภาษณ์ ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขยังคงมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง โดยสั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศรณรงค์ให้ประชาชนให้ดำเนินการตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรคจากยุงลาย ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกาและโรคไข้ปวดข้ออย่างต่อเนื่อง เพื่อลดจำนวนลูกน้ำยุงลายพาหะนำโรคให้ได้มากที่สุด และได้กำชับให้โรงพยาบาลเข้มมาตรการตรวจจับโรคให้รวดเร็ว หากพบผู้ป่วยสงสัยใน 5 กลุ่มได้แก่ ผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยง หญิงตั้งครรภ์ที่มีไข้ออกผื่น กลุ่มผู้ป่วยไข้ออกผื่นเป็นกลุ่มก้อน เด็กแรกคลอดที่มีศีรษะเล็กผิดปกติ และกลุ่มอาการเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบ หากพบให้ใช้มาตรการ 3-3-1 ทันทีโดยไม่ต้องรอผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่แจ้งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วภายใน 3 ชั่วโมง ทีมสอบสวนโรคลงสอบสวนโรคภายใน 3 ชั่วโมง และดำเนินการควบคุมโรค พ่นยาฆ่ายุงลายในรัศมี 100 เมตร ภายใน 1 วัน เพื่อให้การควบคุมป้องกันโรคได้ผล ไม่กระจายไปในวงกว้าง โดยประเมินจากค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย ภายใน 5 วันต้องเป็นศูนย์คือไม่พบลูกน้ำยุงลาย และไม่พบผู้ป่วยรายใหม่หลัง 14 วัน ซึ่งขณะนี้ได้มีการดำเนินการอย่างเข้มข้นทุกพื้นที่แล้ว
นายแพทย์สุวรรณชัย ได้กล่าวต่อว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศ ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 ในจังหวัดที่พบผู้ป่วยคือ กรุงเทพมหานคร อุดรธานี ได้ดำเนินการควบคุมป้องกันโรคตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข ด้วยมาตรการ 3-3-1 เช่นที่ จังหวัดอุดรธานี สามารถดำเนินการควบคุมโรคได้ดี ประเมินค่าดัชนีลูกน้ำยุงในพื้นที่พบผู้ป่วยมีค่าเป็นศูนย์แล้ว ระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้การควบคุมป้องกันโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่พบผู้ป่วยเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือประชาชน ดำเนินการมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรคจากยุงลายทุกสัปดาห์ ป้องกันตัวเองไม่ให้ยุงกัด โดยขอข้อมูลได้ที่โรงพยาบาลหรือสามารถ Download Appication “สถิติลูกน้ำยุงลาย” ในระบบ Android ไปใช้งานได้หากมีข้อสงสัย โทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
******************** 21 กุมภาพันธ์ 2559