กระทรวงสาธารณสุขประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการทำงานวางแผนดำเนินงานเชิงรุกด้านความปลอดภัยทางถนน เร่งสร้างองค์กรต้นแบบเน้นการป้องกัน 3 พฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นสาเหตุการบาดเจ็บและเสียชีวิตพร้อมปรับแผนรณรงค์ป้องกันการบาดเจ็บจากจราจรจากทุกเทศกาลเป็นการรณรงค์ตลอดทั้งปี ตั้งเป้าระยะสั้นเทศกาลสงกรานต์นี้ ลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจราจร
 
 
   วันนี้(25 กุมภาพันธ์ 2559) ที่สถาบันบำราศนราดูร ศ.คลินิก เกียรติคุณ น.พ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมร่วมกับผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) บริษัทกลางคุ้มครองผู้สบภัยจากรถจำกัด และคณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด(สอจร.)เรื่อง การดำเนินงานความปลอดภัยทางถนน กระทรวงสาธารณสุข 2559 พร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานแก่ผู้รับผิดชอบงานด้านอุบัติเหตุ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่งทั่วประเทศ
 
   ศ.คลินิก เกียรติคุณ น.พ.ปิยะสกล กล่าวภายหลังการประชุม ว่า ในปี 2558 ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีการสูญเสียจากการบาดเจ็บจากการจราจรสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชียดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงเร่งดำเนินการสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน โดยจัดการประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางร่วมกันในการลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจราจร ซึ่งถือเป็นการทำงานแบบบูรณาการ โดยมีเป้าหมายระยะสั้น คือลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึงในเดือนเมษายนนี้ให้น้อยกว่าช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา และในระยะยาวลดอัตราการเสียชีวิตจากการจราจรของคนไทยลดลงให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2563
 
   โดยได้ดำเนินการเชิงรุก กำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นองค์กรต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนนมีการจัดทำมาตรการองค์กรให้เจ้าหน้าที่ทุกคนยึดเป็นแนวปฏิบัติ เน้นการป้องกัน 3 พฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นสาเหตุสำคัญของการบาดเจ็บและเสียชีวิต คือดื่มไม่ขับ ไม่ขับรถเร็ว และสวมหมวกกันน็อก และคาดเข็มขัดนิรภัย เพื่อลดความรุนแรงหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น
   พร้อมกันนี้ยังได้ปรับแผนรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุจราจรจากทุกเทศกาลเป็นการรณรงค์ตลอดทั้งปีและได้ให้ทุกจังหวัด วิเคราะห์ข้อมูลทางระบาดวิทยา หาจุดเสี่ยงจุดอันตรายในพื้นที่อย่างน้อยจังหวัดละ 5 จุด/ไตรมาสซึ่งไตรมาสแรกมีรายงานจุดเสี่ยงจำนวน 354 จุด โดยมีการแก้ไขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว 256 จุด เช่น การเพิ่มไฟส่องสว่างในถนนที่มืด ติดไฟเตือนบริเวณทางร่วมทางแยก การปิดจุดกลับรถ เป็นต้น ตลอดจนรณรงค์สร้างความตระหนักและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ในรูปแบบต่างๆ ตามความเหมาะสมแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลและวันหยุดยาวจะเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการด่านชุมชนทั่วประเทศ สกัดกั้นผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทั้ง เมาสุรา ไม่สวมหมวกนิรภัย ออกสู่ถนนใหญ่เป็นต้น      
   ทั้งนี้ จากการถอดบทเรียน พื้นที่นำร่องด่านชุมชน40 อำเภอช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 มีรายงานการตั้งด่านชุมชน 243ด่าน พบผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง จำนวน 12,080 คนสกัดกั้นได้ไม่ให้ผู้ขับขี่ที่ดื่มสุราขับรถออกสู่ถนนใหญ่ และตักเตือนผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ไม่สวมหมวก และขับรถเร็ว จำนวน 4,514 คน                      
   ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวใช้ 4 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการด้านการบริหารจัดการเปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับกระทรวงและระบบบัญชาการในภาวะฉุกเฉินระดับเขต/จังหวัด ตั้งศูนย์จัดการข้อมูลการบาดเจ็บและฉุกเฉิน (Emergency & Trauma Admin Unit) ในโรงพยาบาลจังหวัด กำหนดผู้ประสานงานในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด/สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ทำงานร่วมกับศูนย์ความปลอดภัยทางถนนในพื้นที่ 2.มาตรการด้านการจัดการข้อมูล โดยให้มีการบูรณการข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด และ กระทรวงคมนาคม 3.มาตรการด้านการป้องกันได้แก่ การแก้ไขจุดเสี่ยงและพฤติกรรมเสี่ยง รวมทั้ง มาตรการชุมชน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันคนในชุมชนของตนเองและมาตรการองค์กรเพื่อควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงของบุคลากรในหน่วยงานสาธารณสุขและผู้มารับบริการ และ4.มาตรการด้านการรักษาโดยเพิ่มคุณภาพการบริการตั้งแต่จุดเกิดเหตุไปจนถึงคุณภาพการรักษาในโรงพยาบาล หากดำเนินการทั้ง 4 มาตรการอย่างเข้มข้นตลอดทั้งปี จะสามารถลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจราจรลดได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
******************************************* 25 กุมภาพันธ์ 2559 


   
   


View 41    25/02/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ