ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 2 เดือนแรกของปี 2559 มีจำนวนมากเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 โดยพบผู้ป่วย  8,651 คน เสียชีวิต 1 ราย หวั่นระบาดหนักเช่นปี 2556 ที่พบผู้ป่วยเกือบ 1.6 แสนคน ขอความร่วมมือประชาชนทุกบ้านกำจัดลูกน้ำยุงลายพาหะนำโรคทุก 7 วัน และมาตรการ 3 เก็บ ที่ป้องกันได้ 3 โรคจากยุงลาย

นายแพทย์โสภณ  เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศเป็นอันตรายและน่าเป็นห่วงมาก ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา รายงานผู้ป่วยในปี 2559 เพียง 2 เดือนพบผู้ป่วยแล้ว 8,651 คน เสียชีวิต 1 คน ซึ่งสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ถึง 2 เท่าตัว โดยในปี 2558 มีรายงานผู้ป่วยเพียง 4,263 คน  โดยมีแนวโน้มที่จะระบาดหนักเช่นปี 2556 ที่พบผู้ป่วยในช่วงเดียวกัน 11,000 กว่าคน และตลอดปีพบเกือบ 1.6 แสนคน  หากไม่เข้มข้นการควบคุมป้องกันโรค  โดยภาคกลาง พบผู้ป่วยสูงสุด จำนวน 4,431 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,965 คน  ภาคใต้ 1,300 คน และภาคเหนือ 955 คน เสียชีวิต 1 คน โดยกรุงเทพมหานคร พบผู้ป่วยสูงสุด 2,223 คน รองลงมาศรีษะเกษ 355 คน สงขลา 335 คน   กลุ่มอายุที่ป่วยส่วนใหญ่ 10-14 ปี รองลงมา 5-9 ปี อาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือนักเรียน ร้อยละ 41.35 รองลงมารับจ้าง ร้อยละ 19.25  เป็นผู้ป่วยชาย 4,400 ราย  หญิง 4,251 ราย

กำชับให้โรงพยาบาลทุกแห่งเข้มงวดการตรวจรักษาโรคไข้เลือดออกเพื่อป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุดและให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รณรงค์ให้ประชาชนทำลายแหล่งลูกน้ำยุงลายทุก 7 วัน ร่วมกับมาตรการ 3 เก็บ ได้แก่ เก็บกวาดบ้านให้สะอาด เก็บขยะเศษภาชนะรอบๆบ้าน ปิดภาชนะเก็บน้ำกินน้ำใช้ให้สนิท ไม่ให้เป็นแหล่งที่ยุงลายจะวางไข่ ทำทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน โรงเรียน ศาสนสถาน  สถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก  โรงพยาบาล เพื่อลดจำนวนยุงลายพาหะนำโรค  และวิธีกำจัดยุงลายตัวเต็มวัย ทั้งการใช้สารเคมีสำเร็จรูปที่มีขายตามท้องตลาด หรือวิธีใช้น้ำยาล้างจานผสมกับน้ำเปล่าในอัตรา 1: 4 ส่วน เทใส่ขวดสเปรย์และฉีดพ่นไปที่มียุงบินชุกชุม  ซึ่งทำได้ง่าย ได้ผลดีและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ  โดยมาตรการดังกล่าวป้องกันโรคจากยุงลาย ทั้งไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และไข้ปวดข้อยุงลาย

******************   29 กุมภาพันธ์ 2559



   
   


View 16    29/02/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ