กระทรวงสาธารณสุข ออกโรงเตือนสังคมไทย ได้เวลาหันหน้าร่วมกันแก้ปัญหาโรคอ้วนของคนไทย โดยเริ่มใส่ใจอย่างจริงจังต่อการควบคุมป้องกันเด็กไทยไม่ให้อ้วน โดยเฉพาะร่วมกันควบคุมการกินขนมที่หวาน มัน เค็ม ซึ่งปัจจุบันพบตัวเลขที่น่าตกใจ เด็กไทยกินขนมปีละ 1.7 แสนล้านบาท และอ้วนเพิ่มขึ้น 3 เท่าในรอบ 6 ปี นายสง่า ดามาพงษ์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข และนักวิชาการสาธารณสุข 9 กรมอนามัย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การอนามัยโลกได้ออกมาเตือนภัยถึงความรุนแรงของโรคอ้วนในเด็กทั่วโลก พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ จำนวนไม่ต่ำกว่า 17.6 ล้านคน มีน้ำหนักเกิน มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ และเพิ่มอย่างรวดเร็วในทวีปเอเชียรวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยพบเด็กไทยวัยต่ำกว่า 5 ขวบ อ้วนเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ในระยะเวลาเพียง 6 ปี ปัจจุบันพบเด็กไทยระดับอนุบาลและประถมต้น อ้วนมากถึงร้อยละ 13-15 โดยเด็กในเมืองอ้วนมากกว่าเด็กชนบทเกือบ 2 เท่าตัว โรคอ้วนที่เกิดในเด็กจะมีผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ โดยจะเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพอย่างน้อย 5 ด้าน ได้แก่ ประการแรก ปัญหาระบบหัวใจและหลอดเลือด เพราะไขมันไปเกาะที่ผนังหลอดเลือดหัวใจ ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว เสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตและไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง ประการที่ 2 ปัญหาระบบหายใจ พบว่าเด็กอ้วนร้อยละ 30 มีความผิดปกติของการหายใจ และจำนวนไม่น้อยถึงขั้นหยุดหายใจขณะนอนหลับ ประการที่ 3 ปัญหาข้อและกระดูก ทำให้เด็กขาโก่งหรือกางผิดปกติ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าขากอม เนื่องจากการรับน้ำหนักตัว ประการที่ 4 ปัญหานิ่วในถุงน้ำดี พบมากเป็น 4.2 เท่าของคนปกติ และประการสุดท้าย เกิดปัญหาภาวะดื้ออินสุลิน ก่อให้เกิดโรคเบาหวานประเภท 2 ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบกว่าร้อยละ 90 ในผู้ที่เป็นเบาหวานขณะนี้ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่ออีกว่า ถ้าไม่รีบช่วยกันลดอ้วนในเด็ก จะทำให้เด็กอนุบาลและประถมกลายเป็นผู้ใหญ่อ้วนร้อยละ 30 ส่วนเด็กวัยรุ่นและมหาวิทยาลัยจะกลายเป็นผู้ใหญ่อ้วนถึงร้อยละ 80 และจะเสี่ยงเจ็บป่วยและตายด้วยสารพัดโรค รวมทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด ความดัน เบาหวาน และมะเร็ง ซึ่งเป็นเพชฌฆาตคร่าชีวิตคนไทยตายลำดับต้นๆ ในขณะนี้ สาเหตุสำคัญของโรคอ้วนในเด็กเกิดจากหลายปัจจัย แต่การกินขนมและ น้ำอัดลมนับเป็นปัจจัยสำคัญ จากการศึกษาหลายแห่งพบว่าเด็กไทยใช้เงินซื้อขนมเป็นมูลค่าสูงถึงปีละ 1.7 แสนล้านบาท เด็กไทยได้เงินไปโรงเรียนเฉลี่ยวันละ 68 บาท พบว่านำไปซื้อขนม 30 บาท น้ำอัดลม 19 บาท การกินขนมแบบล้นเกินของเด็กไทยดังกล่าว ทำให้เด็กไทยได้พลังงานจากขนมร้อยละ 27-30 ของพลังงานทั้งวัน ซึ่งมากกว่าค่าปกติที่ควรได้รับไม่เกินร้อยละ 20 ของพลังงานทั้งหมด เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กไทยอ้วนอันเนื่องมาจากการกินขนมที่ล้นเกิน กระทรวงสาธารณสุขใคร่ขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย หันหน้าเข้าหากันเพื่อหามาตรการที่มีผลต่อการปฏิบัติอย่างจริงจัง เริ่มจากการเรียกร้องให้พ่อแม่และผู้ดูแลเด็ก หันมาใส่ใจการกินขนมของลูกให้มากขึ้น ฝึกทักษะการกินขนมที่มีคุณค่าทางโภชนาการตั้งแต่เด็กเล็ก ตามด้วยมาตรการทางสังคมที่จะควบคุมการตลาดขนม โดยเฉพาะการโฆษณา ให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมกับเวลา เนื้อหาและการนำเสนอ ควรมุ่งให้เด็กมีภูมิคุ้มกันทางปัญญา ตัดสินใจซื้อขนมที่มีคุณภาพ รวมทั้งส่งเสริมการอ่านฉลากก่อนซื้อ ขณะเดียวกันจะต้องผลักดันให้ธุรกิจขนมเด็ก ผลิตขนมที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ได้มาตรฐานและเป็นที่ชื่นชอบของเด็กออกสู่ตลาดให้มากขึ้น นายสง่า กล่าวในที่สุด ***************** 28 สิงหาคม 2550


   
   


View 5       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ