กระทรวงสาธารณสุข เชิญผู้แทนโรงพยาบาลเอกชน ชี้แจงการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อฉบับใหม่ทดแทนของเดิมที่ใช้มา 35 ปี ซึ่งเป็นครั้งแรกที่โรงพยาบาลเอกชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย วางแผนปฏิบัติงานและมีส่วนร่วมในการควบคุมป้องกันโรค รวมทั้งหารือนโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ์
วันนี้ (15 มีนาคม 2559) ที่สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลัง ชี้แจงพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ฉบับใหม่ และหารือนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ์แก่ผู้แทนจากโรงพยาบาลเอกชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลกว่า 100 คน ว่า ในเรื่องพระราชบัญญัติโรคติดต่อฉบับใหม่ ที่มีการปรับปรุงจากของเดิมที่ใช้มา 35 ปี ให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งพระราชบัญญัติฯฉบับนี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลภาคเอกชนใน 2 ส่วนคือ 1.การเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยมีนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนเป็นผู้แทน
ในส่วนระดับจังหวัดจะเลือกผู้แทนโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดนั้นๆและแต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัด 2.การเฝ้าระวังโรค ที่กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชน ต้องแจ้งกระทรวงสาธารณสุขเมื่อพบผู้ป่วยโรคที่กำหนดไว้ ภายในเวลาที่กำหนด โดยเฉพาะโรคติดต่อร้ายแรง รวมทั้ง การตั้งหน่วยปฏิบัติการโรคติดต่อ อย่างน้อยเขตละ 1 หน่วยหรืออำเภอละ 1 หน่วย เพื่อเข้าไปดำเนินการสอบสวนควบคุมโรค ทั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่โรงพยาบาลเอกชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย วางแผนปฏิบัติงานและมีส่วนร่วมในการควบคุมป้องกันโรค
เรื่องที่ 2 นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ์ ที่มีเป้าหมายในการดำเนินการ คือ ช่วยเหลือชีวิต เป็นโครงการช่วยเหลือสังคมของภาคเอกชน (CSR ) การไม่เรียกเก็บเงินผู้ป่วย การส่งต่อภายหลัง 72 ชั่วโมง การไม่เบิกจ่ายเงินซ้ำซ้อน โดยมีการหารือและรับฟังความคิดเห็นจากโรงพยาบาลเอกชน ในประเด็นที่อาจจะยังมีความขัดข้อง เช่น นิยามผู้ป่วยวิกฤตสีแดง การไม่เรียกเก็บเงินผู้ป่วย การเบิกจ่าย ราคายา การส่งต่อ ทั้งนี้ เพื่อนำความคิดเห็นไปเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติในวันพรุ่งนี้
************************************* 15 มีนาคม 2559
*******************************
View 20
15/03/2559
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ