“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 136 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เผยปี 2559 พบผู้ป่วยโรคอุจาระร่วงแล้ว กว่า 2.4 แสนคน โรคนี้พบได้บ่อยในช่วงอากาศร้อน สาเหตุมาจากการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่ไม่สะอาด แนะเข้มมาตรการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” และหากมีอาการท้องร่วง ท้องเสียให้เลือกดื่มเกลือแร่ ชนิดโอ – อาร์ – เอส เพื่อทดแทนน้ำกับเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไปจากอาการท้องเสีย หลีกเลี่ยงดื่มเกลือแร่สำหรับผู้เสียเหงื่อหรือโอ-อาร์-ที เพราะจะทำให้ถ่ายเหลวเพิ่มขึ้น
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้เป็นช่วงหน้าร้อนประชาชนอาจมีอาการท้องร่วงหรือท้องเสีย มักมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่ไม่สะอาด หรือมีเชื้อโรคเชื้อปน ทำให้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิ นอกจากนี้อาการท้องเสียยังสามารถเกิดได้จากการรับประทานอาหารรสจัด หรือเกิดจากยาและโรคบางชนิด ซึ่งจะมีอาการถ่ายอุจจาระเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป หรือถ่ายเป็นมูกเลือดตั้งแต่ 1 ครั้งขึ้นไป ภายใน 24 ชั่วโมง อาการเหล่านี้หากมีอาการไม่เกิน 2 สัปดาห์ จะเรียกว่า ท้องเสียเฉียบพลัน แต่หากนานเกิด 2 สัปดาห์จะเรียกว่า ท้องเสียเรื้อรัง โดยข้อมูลการเฝ้าระวังจากสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1มกราคม - 21 มีนาคม 2559 พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงแล้ว 245,988 คน จาก 78 จังหวัด
สำหรับวิธีดูแลตัวเองเมื่อท้องเสียในช่วง 24-72 ชั่วโมงแรก ให้หยุดรับประทานอาหาร 2 - 4 ชั่วโมง เพื่อให้ลำไส้หยุดการทำงาน ดื่มเกลือแร่สำหรับคนที่ท้องเสียหรือโอ – อาร์ – เอส (ORS) ผสมกับน้ำต้มสุก หากไม่สามารถหาซื้อโอ-อาร์-เอส สามารถเตรียมเองได้โดยผสมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ และเกลือแกง ครึ่งช้อนชาในน้ำที่ต้มสุก 1 ขวดน้ำปลา หรือ 750 ซีซี ละลายให้เข้ากัน เพื่อทดแทนน้ำกับเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไป การเสียน้ำจากอาการท้องเสีย และไม่ควรรับประทานยาที่ทำให้หยุดถ่ายทันที จะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี เช่น ท้องอืด ท้องผูก และยังมีเชื้อโรคอยู่ในร่างกาย เป็นต้น
ทั้งนี้ ยังมีประชาชนเข้าใจผิด ซื้อเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับผู้เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย หรือโอ-อาร์-ที (ORT) มาดื่มเมื่อท้องเสีย ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เนื่องจากอาการท้องเสียร่างกายจะขาดน้ำและเกลือแร่ แต่ในโออาร์ ทีจะมีน้ำและน้ำตาลสูง ทำให้ร่างกายดึงน้ำและน้ำตาลเข้ามาในทางเดินอาหาร ส่งผลให้ลำไส้บีบตัวมากขึ้นกระตุ้นการถ่ายเหลวมากขึ้น ดังนั้นเมื่อท้องเสียจึงควรดื่มเกลือแร่ โอ อาร์ เอส ที่มีส่วนผสมของน้ำและเกลือแร่
มีนาคม 5/8 ******************* 27 มีนาคม 2559