กรมควบคุมโรค จับมือคณะเทคนิคการแพทย์ม.เชียงใหม่ พัฒนาชุดตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อหนองใน-หนองในเทียม ผู้หญิงสามารถเก็บตัวอย่างเชื้อได้ด้วยตนเองที่บ้าน ไม่ต้องตรวจภายใน ผลทดสอบประสิทธิภาพเบื้องต้นไม่แพ้ของนอก ราคาถูกกว่า 6 เท่าตัว ชี้ชายไทยร้อยละ 50 ติดเชื้อหนองในจากการมีเซ็กซ์กับหญิงขายบริการแอบแฝง เพราะไม่ใช้ถุงยางอนามัย ส่วนหญิงไทยร้อยละ 50 ติดหนองในจากสามี มักไม่มีอาการป่วย พร้อมแพร่เชื้อให้ผู้อื่น โดยหากคนเป็นหนองในมีเซ็กซ์กับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี จะเกิดแพร่กระจายเร็วขึ้น
วันนี้ (29 สิงหาคม 2550) ที่จังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นำคณะสื่อมวลชน ดูงานการตรวจหาเชื้อหนองในและหนองในเทียมด้วยตนเอง ที่คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์กามโรคและโรคเอดส์ เขต 10 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดเชียงใหม่ กับคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาระบบการตรวจเชื้อและสามารถให้การรักษาให้หายขาด เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อหนองในและหนองในเทียมจำนวนมาก ยังเข้าไม่ถึงบริการ เพราะอายหมอ และไปซื้อยากินเพื่อรักษาตัวเอง ทำให้เชื้อเกิดการหลบใน ตรวจไม่เจอ และเป็นแหล่งแพร่ไปสู่คนอื่นได้อีก หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน ซึ่งแนวโน้มขณะนี้ ปัญหาส่อแววรุนแรงมากขึ้น
นายแพทย์ธวัช ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มผู้ให้บริการทางเพศโดยรวมมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากมีการเร่งรัดงานควบคุมป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งโครงการรณรงค์ถุงยางอนามัย 100% แต่ในบางกลุ่ม เช่น ผีขนุน สาวนั่งดริ๊งค์ สาวคาราโอเกะ สาวโคโยตี้ มีแนวโน้มโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการขายบริการทางเพศเป็นแบบแอบแฝงซ่อนเร้น ส่งผลกระทบต่อการควบคุมป้องกันโรคอย่างมาก รวมทั้งในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนอายุ 10-24 ปี มีอัตราเพิ่มขึ้นทั้งชายหญิง จากร้อยละ 32 ในปี 2545 เป็นร้อยละ 43 ในปี 2549 สาเหตุจากวัยรุ่นไทยมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเร็วขึ้น มีคู่นอนมากกว่า 1 คน และใช้ถุงยางอนามัยน้อยมากประมาณร้อยละ 20 เท่านั้น
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ปี 2549 ทั่วประเทศมีผู้มารับบริการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จำนวน 278,027 ราย เป็นหญิง 211,721 ราย เป็นชาย 66,306 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ให้บริการทางเพศ 107,533 ราย จากการตรวจพบติดเชื้อกามโรคทุกชนิด 9,735 ราย มากที่สุดคือเชื้อหนองใน 5,075 ราย รองลงมาเป็นหนองในเทียม 3,699 ราย ที่เหลือเป็นซิฟิลิส แผลริมอ่อน และกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน อายุ 20-29 ปี รองลงมา 30-39 ปี ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง รองลงมาอาชีพให้บริการทางเพศ โดยผู้ชายติดเชื้อจากหญิงขายบริการทางเพศร้อยละ 19 และมีแนวโน้มติดเชื้อจากกลุ่มสมัครเล่นมากขึ้นเรื่อยๆ จากร้อยละ 15 ในปี 2545 เป็นร้อยละ 57 ในปี 2549 ส่วนผู้หญิงพบว่า ร้อยละ 51 ติดเชื้อจากสามี ขณะนี้ทั่วประเทศมีแหล่งบริการทางเพศประมาณ 13,398 แห่ง มีผู้ให้บริการทางตรง 55,355 คน
นายแพทย์เกรียงศักดิ์ จิตวัชรนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์กามโรคและโรคเอดส์เขต 10 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 เชียงใหม่ กล่าวว่า โรคหนองในและโรคหนองในเทียม เป็นโรคที่พบได้บ่อย คนที่มาพบแพทย์จะเป็นชายมากกว่าหญิง ผู้ติดเชื้อที่เป็นชาย ร้อยละ 90 จะมีอาการปัสสาวะแสบขัด มีหนองไหลจากท่อปัสสาวะ บางส่วนซื้อยากินรักษาเอง ซึ่งหลังอาการทุเลาก็หยุดยาเพราะนึกว่าหายแล้ว คาดว่าจะมีประมาณร้อยละ 40 ส่วนในผู้หญิงร้อยละ 30-50 จะไม่มีอาการแสดง หรือมีอาการเล็กน้อย เช่น มีตกขาว ปัสสาวะแสบ หรือปวดท้องน้อย ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะไม่ค่อยกล้าเข้าไปรับบริการตรวจรักษา เนื่องจากอาย จึงทำให้กลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อเงียบ สามารถแพร่ไปให้คู่นอนที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ และหากคู่นอนฝ่ายหนึ่งติดเชื้อเอชไอวีไปพร้อมกับเชื้อหนองในด้วย จะทำให้ปริมาณเชื้อเอชไอวีแพร่กระจายได้รวดเร็วขึ้น
ทางด้านนายอุดมศักดิ์ เห่วชีวเจริญ คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้การวินิจฉัยเชื้อหนองในและหนองในเทียม มีความยุ่งยากมากขึ้น การตรวจแบบมาตรฐานดั้งเดิมคือ ย้อมสีเชื้อที่ห้องแล็บมีความยุ่งยากขึ้น เนื่องจากเชื้อหลบใน ทำให้ผลการตรวจมีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง มักจะตรวจไม่พบ ส่วนการตรวจเชื้อด้วยเทคนิคพีซีอาร์ (PCR) มีราคาสูง จึงได้พัฒนาการตรวจถึงระดับดีเอ็นเอ (DNA) ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของเชื้อหนองใน-หนองในเทียม ให้ง่ายต่อการใช้งานมากขึ้น และผลิตเป็นชุดเล็กๆ ที่เรียกว่าเทสคิท (Test Kits) โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่ไม่กล้าไปหาหมอ จากการทดสอบประสิทธิภาพเทียบกับชุดตรวจที่นำเข้าจากต่างประเทศ มา 1 ปีเศษ โดยใช้กับกลุ่มเสี่ยงที่ศูนย์กามโรคกว่า 200 ชุด พบว่าให้ความแม่นยำสูงทั้ง 2 ชนิด โดยชนิดตรวจเชื้อหนองใน แม่นยำสูงถึงร้อยละ 94 ส่วนเชื้อหนองในเทียมให้ความแม่นยำสูงถึงร้อยละ 96 ต้นทุนการผลิตชุดตรวจ ชุดละ 250 บาท ราคาถูกกว่านำเข้าจากต่างประเทศถึง 6 เท่าตัว
ทั้งนี้ ชุดตรวจดีเอ็นเอดังกล่าว ผู้หญิงที่สงสัยจะติดเชื้อ สามารถใช้ตรวจได้ด้วยตนเอง และเข้าถึงบริการได้สะดวกขึ้น สามารถเก็บตัวอย่างเชื้อได้ด้วยตนเองที่บ้าน โดยใช้ไม้พันสำลีสอดเข้าไปในช่องคลอดลึกประมาณ 4 เซนติเมตร หมุนไม้พันสำลีให้สัมผัสกับช่องคลอดจนทั่ว แล้วนำออกมาผึ่งลมให้แห้ง 1 คืน แล้วบรรจุลงถุง ปิดผนึก ส่งไปรษณีย์ไปที่ศูนย์กามโรคและโรคเอดส์ที่ 10 เชียงใหม่ พร้อมระบุชื่อที่อยู่ที่ให้ส่งผลการตรวจ ซึ่งวิธีนี้จะสะดวกกับผู้ป่วย ไม่ต้องเดินทางไปสถานบริการ ไม่ต้องตรวจภายในด้วย
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ชุดตรวจดังกล่าวยังไม่วางจำหน่าย ยังต้องพัฒนาประสิทธิภาพให้ได้ 100% ทั้ง 2 เชื้อ โดยในปี 2550 ได้ทำโครงการทดลองใช้ในกลุ่มหญิงขายบริการทางเพศอิสระ จำนวน 1,000 ราย ที่เชียงใหม่จำนวน 500 ราย และที่เหลือกระจายที่เชียงราย ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน พะเยา จะประเมินผลในปลายปีนี้ และเมื่อพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จะจดลิขสิทธิ์ร่วมกันในนามกรมควบคุมโรคและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต่อไป
************************************** 29 สิงหาคม 2550
View 29
29/08/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ