เภสัชกรโรงพยาบาลอุดรธานี พัฒนาโปรแกรมการเตรียมยารักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพิ่มความแม่นยำถูกต้อง ประสิทธิภาพการรักษาสูง ปลอดภัยต่อผู้ป่วย ทำให้กระบวนการดูแลผู้ป่วยมะเร็งดียิ่งขึ้น ผลการสำรวจล่าสุดพบคนไทยวัย 15 ปี กำลังป่วยจากโรคมะเร็งมากเกือบ 2 แสนคน ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2550 ที่โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จ.เชียงใหม่ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบรางวัลให้ผู้ที่มีผลงานวิชาการยอดเยี่ยมประจำปี 2549 ได้แก่ นายดำรงเกียรติ ตั้งเจริญ เภสัชกรจากโรงพยาบาลอุดรธานี ซึ่งได้ศึกษาวิจัยเรื่อง “โปรแกรมคัดกรองคำสั่งและการเตรียมยาเคมีบำบัด” เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัยต่อผู้ป่วย เป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์และสาธารณสุขในการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง สามารถนำไปใช้ทั่วประเทศได้ นายดำรงเกียรติ กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นโรคเรื้อรัง ที่ต้องใช้ค่ารักษาพยาบาลค่อนข้างสูงมาก ขณะนี้กำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ผลการสำรวจสุขภาพคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ล่าสุดในปี 2547 พบผู้ที่กำลังป่วยเป็นโรคมะเร็งทุกชนิดประมาณ 180,000 คน ในเพศชายพบมะเร็งตับมากที่สุด รองลงมาคือ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ส่วนเพศหญิงพบมะเร็งปากมดลูกมากที่สุด รองลงมาคือมะเร็งเต้านม โดยมีผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิตปีละกว่า 50,000 ราย ส่วนที่จังหวัดอุดรธานี ศูนย์มะเร็งอุดรธานีรายงานว่า ในปี 2544-2548 มีผู้ป่วยมะเร็งทั้งสิ้น 6,073 ราย พบมะเร็งปากมดลูกมากที่สุด รองลงมาคือมะเร็งตับ มะเร็งเต้านม และมะเร็งปอด ทั้งนี้ ยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง จะมีฤทธิ์ทำลายเซลล์ ยับยั้งการเจริญเติบโต ไม่ให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจาย ซึ่งอาจใช้ร่วมกับการผ่าตัด การฉายแสง หรือให้ยาฮอร์โมน โดยยาที่ใช้อาจเป็นชนิดเดียวหรือหลายชนิดร่วมกัน ขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรค วิธีการให้ยาอาจมีทั้งรับประทาน และการฉีด นายดำรงเกียรติ กล่าวต่อไปว่า การใช้ยาประเภทนี้ต้องใช้อย่างระมัดระวังมาก ทั้งผู้เตรียมยาและผู้ป่วย เนื่องจากเป็นยาที่มีผลข้างเคียงสูง เช่น กดไขกระดูก มีพิษสะสมต่อหัวใจ มีพิษต่อไต คลื่นไส้อาเจียน การให้ยามีลักษณะการให้เป็นสูตรโดยให้ยามากกว่า 1 ตัว แต่ละครั้งอาจใช้เวลา 1-2 วันหรือมากกว่า ซึ่งแพทย์จะสั่งให้หลายรอบ ขึ้นกับชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค ตลอดจนการตอบสนองต่อยา โดยยาในแต่ละสูตรมีวิธีการบริหารแตกต่างกัน ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งมีโอกาสเสี่ยงจากการใช้ยาเคมีบำบัด ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการควบคุมที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการรักษา และมีความปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากที่สุด “ในปี 2549 มีผู้ป่วยโรคมะเร็งเข้ารักษาที่รพ.อุดรธานี 783 ราย รวม 4,823 ครั้ง ใช้ยาบำบัดจำนวน 28 รายการ มียาที่เตรียมทั้งหมด 13,989 รายการ จากการทบทวนการใช้ยาเคมีบำบัด ซึ่งอาจมีพิษต่อหัวใจ ที่รพ.อุดรธานี กับผู้ป่วย 182 ราย พบว่าผู้ป่วยได้รับยาในขนาดสะสมเกินกำหนดร้อยละ 9 ส่วนการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม พบว่ามีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 24 ที่ได้รับยาครบตามสูตรที่แพทย์กำหนด จากการวิเคราะห์สาเหตุปัญหาพบว่า เกิดจากแพทย์มีภาระงานที่มากขึ้น ปัญหาการเข้าถึงและสื่อสารข้อมูลของผู้ป่วยของทีมที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้ป่วย รวมทั้งขาดการบันทึกข้อมูลที่จำเป็นเพื่อใช้ในการสื่อสารและการสั่งการรักษา นายดำรงเกียรติ กล่าวต่ออีกว่า ในการแก้ปัญหาและติดตามปัญหาจากการใช้ยา ได้พัฒนาโปรแกรมสารสนเทศ เพื่อเป็นหน่วยคัดกรอง ช่วยตรวจสอบประเด็นที่เกี่ยวกับความปลอดภัยที่จำเป็น และการเตรียมยาเคมีบำบัดให้ถูกต้อง โดยกำหนดประเด็นรายการสำคัญที่จำเป็นต้องตรวจสอบไว้ในโปรแกรม ได้แก่ ข้อมูลยา ข้อมูลการใช้ ขนาดที่ใช้ วิธีการให้ยา ข้อมูลผู้ป่วย การใช้ยาในสูตรต่างๆ ขนาดยาที่ใช้ในแต่ละรอบ การผสมยา วันที่ให้ยา การคำนวณขนาดสะสม การคำนวณขนาดยาให้เหมาะกับภาวะการทำงานของไต ข้อมูลอาการข้างเคียงที่จะต้องติดตามดูแลผู้ป่วย ข้อมูลปัญหาในการหยุดยา เพื่อประเมินความสมบูรณ์ของการให้ยา โดยโปรแกรมจะเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลการดูแลผู้ป่วยของโรงพยาบาล โปรแกรมดังกล่าวนี้จะช่วยให้ผู้ใช้ยา ตรวจสอบยาได้อย่างถูกต้อง ถูกขนาด และถูกเวลาตามที่แพทย์สั่งรักษา สามารถใช้ได้ทั้งผู้ป่วยใหม่และผู้ป่วยเก่าที่อยู่ระหว่างรับยา ซึ่งจะมีระบบเตือนหากมีความผิดพลาด เช่น ได้รับยาไม่เป็นไปตามเกณฑ์ หรือได้ยามากเกินไป จากการทดลองการใช้งานโปรแกรมดังกล่าวใน รพ.อุดรธานีเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ตุลาคม–ธันวาคม 2549 ผลการทดสอบพบว่า สามารถคัดกรองคำสั่งการใช้ยาตามประเด็นความเสี่ยงสำคัญ สามารถขจัดข้อผิดพลาดในเรื่องการคำนวณการใช้กับผู้ป่วยที่มีปัญหาการทำงานของไต การระบุรอบยาผิด การสั่งยาเกิน หรือสั่งยาผิดสูตร หรือการสั่งผิดตัวยาได้เป็นอย่างดี ช่วยให้กระบวนการเตรียมยาเป็นไปอย่างรวดเร็วและ มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งโปรแกรมนี้ยังใช้เป็นเครื่องมือให้แพทย์หรือพยาบาลที่ดูแล สามารถติดตามผลข้างเคียงและอาการอันไม่พึ่งประสงค์ของยาสูตรต่างๆ ที่ผู้ป่วยได้รับ ทำให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างสมบูรณ์ ทำให้กระบวนการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งของรพ.อุดรธานีดีขึ้น และเป็นศูนย์เชี่ยวชาญโรคมะเร็งของกระทรวงสาธารณสุขประจำภาคอีสานตอนบนด้วย นายดำรงเกียรติ กล่าว ****************************** 30 สิงหาคม 2550


   
   


View 13    30/08/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ