แผนกอายุรกรรมโรงพยาบาลสุรินทร์ พัฒนากระบวนการดูแลผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ซึ่งเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดใน 24 ชั่วโมงแรกได้เป็นผลสำเร็จ สามารถลดอัตราการเสียชีวิตผู้ป่วยจากร้อยละ 43 เหลือร้อยละ 13 ในปี 2550 เตรียมขยายเครือข่ายดูแลผู้ป่วยทุกหมู่บ้าน และตั้งชมรมคนเมืองช้างรักษ์หัวใจ
ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2550 ที่โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ น.ส.อุบลรัตน์ ดีพร้อม พยาบาลวิชาชีพประจำหอผู้ป่วยไอซียู โรงพยาบาลสุรินทร์ คณะในกลุ่มการพยาบาลและตัวแทนบุคลกรในโรงพยาบาลสุรินทร์ ได้รับรางวัลผลงานวิชาการยอดเยี่ยมของปี 2550 จากการศึกษาเรื่อง การพัฒนากระบวนการดูแลผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันของโรงพยาบาลสุรินทร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคนี้ลงให้มากที่สุด โดยให้ทีมสหสาขาวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักโภชนาการ นักวิชาการสาธารณสุข มีส่วนร่วมดูแลผู้ป่วยร่วมกัน ตั้งแต่เข้ารับการรักษาในแผนกฉุกเฉิน จนอาการ ดีขึ้นและกลับไปอยู่บ้าน
น.ส.อุบลรัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้โรคหัวใจกำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ เป็นสาเหตุการตายในลำดับ 3 รองจากโรคมะเร็ง มักพบในวัยทำงานแล้วและผู้สูงอายุ ทั่วประเทศเสียชีวิตปีละเกือบ 20,000 คน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 80 เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือด โดยมีผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเข้านอนรักษาในโรงพยาบาลปีละกว่า 1 แสนคน เฉลี่ยวันละ 283 คน จากการศึกษาที่โรงพยาบาลสุรินทร์ พบโรคดังกล่าวเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ ของโรงพยาบาลสุรินทร์ ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการจุกแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอกเหมือนมีอะไรมากดทับ หายใจไม่ออก โดยมีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดใน 24 ชั่วโมงแรกถึงร้อยละ 33
จากการวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดที่โรงพยาบาลสุรินทร์สูง มาจากไม่มีแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจโดยตรง ขาดระบบการวินิจฉัยดูแลที่รวดเร็ว พยาบาลขาดทักษะในการดูแลผู้ป่วย โดยมีการศึกษาในต่างประเทศว่าโรคนี้รักษาด้วยยาได้ หากผู้ป่วยได้รับยาละลายลิ่มเลือดหลังเกิดอาการเจ็บหน้าอกอย่างรวดเร็ว เพื่อทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเร็วที่สุด จะสามารถป้องกันไม่ให้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจตายเพราะขาดเลือด อัตราการเสียชีวิตจะน้อยลง ทีมงานจึงได้พัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยดังกล่าวขึ้น เพื่อลดอัตราตายของผู้ป่วยลงให้ได้มากที่สุด
ในการพัฒนาระบบการดูแล น.ส.อุบลรัตน์ กล่าวต่ออีกว่า ได้เริ่มดำเนินการในปี 2548 เริ่มจากศึกษาวิเคราะห์ปัญหาในปี 2547-2548 พบว่าผู้ป่วยเข้ารักษา 96 ราย มีอัตราการตายสูงร้อยละ 43 เนื่องจากมีการใช้ยาละลายลิ่มเลือดน้อย โรงพยาบาลไม่มีแนวทางปฏิบัติ ได้ประชุมผู้เกี่ยวข้องคือ แพทย์ พยาบาลประจำห้องฉุกเฉิน ไอซียู และหออายุรกรรม เพิ่มระบบทางด่วน โดยสำรองเตียงว่าง 1 เตียงที่ห้องไอซียู รองรับผู้ป่วยโรคนี้ตลอด 24 ชั่วโมง พัฒนาการวินิจฉัยสัญญาณของโรคหัวใจขาดเลือดของพยาบาลที่อยู่เวรห้องฉุกเฉิน คือ อาการเจ็บหน้าอก การใช้เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจหรืออีเคจี (EKG) เพื่อดูว่ามีการตายของกล้ามเนื้อหัวใจหรือไม่ และการตรวจเลือด เบ็ดเสร็จภายใน 10 นาทีที่ห้องฉุกเฉิน พร้อมทั้งให้ออกซิเจนผู้ป่วยรักษาอาการเบื้องต้นทันที
รายงานแพทย์เพื่อการรักษา หากมีอีเคจีผิดปติ ต้องให้ยาละลายลิ่มเลือด ให้พยาบาลฉุกเฉินเตรียมเบิกยาเพื่อใช้ที่หอผู้ป่วยหนัก จัดระบบการประสานหอผู้ป่วยไอซียูล่วงหน้า เพื่อเตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือ ประสานแพทย์ดูแล ให้พร้อมรับผู้ป่วยให้เร็วที่สุดภายใน 30 นาที และให้ยาละลายลิ่มเลือดตามข้อบ่งชี้ ซึ่งมาตรการนี้ใช้ในโรงพยาบาลชุมชน 13 แห่งของจังหวัดสุรินทร์ด้วย โดยก่อนจะส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลสุรินทร์ จะประสานงานแจ้งที่ห้องฉุกเฉินก่อน เพื่อเตรียมการรับผู้ป่วยอย่างปลอดภัย
ทั้งนี้ หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาจนพ้นขีดอันตรายแล้วที่ไอซียู และอยู่ในขั้นพักฟื้น จะมีทีมของเภสัชกรและโภชนากร ให้คำแนะนำผู้ป่วยและญาติในการกินยา กินอาหาร เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุ โดยก่อนที่แพทย์จะอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้าน พยาบาลจะสอนการปฏิบัติตัว รวมทั้งติดตามผลการรักษา และอาการผู้ป่วยที่บ้านเป็นระยะๆ ทางโทรศัพท์ ไปรษณียบัตร หลังจากกลับบ้านแล้ว 1 สัปดาห์ และติดตามทุก 1 เดือน 3 เดือน และ 6 เดือน
จากการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ตลอดปี 2549 พบว่าได้ผลดี สามารถพัฒนาการรับผู้ป่วยและรักษาอย่างรวดเร็ว ทำอีเคจีภายในเวลา 5-7 นาที สามารถลดเวลาการให้ยาเฉลี่ยจากเดิม 52 นาทีในปี 2547 เหลือเพียง 21 นาที มีแพทย์และพยาบาลดูแลขณะให้ยาอย่างใกล้ชิดใน 24 ชั่วโมงแรก เภสัชกรติดตามดูแลการให้ยาครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้อัตราการเสียชีวิตลดจากร้อยละ 42 ในปี 2548 เหลือเพียงร้อยละ 13 เนื่องจากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยได้รวดเร็ว ตัดสินใจรักษาได้อย่างถูกต้องฉับพลัน และการดูแลผู้ป่วยเป็นทีม สามารถลดระยะเวลานอนโรงพยาบาลจากเฉลี่ย 6 วันเหลือ 4 วัน ไม่มีการกลับมารักษาซ้ำใน 28 วัน
น.ส.อุบลรัตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับในปี 2550 นี้ มีโครงการขยายระบบการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดไปในทุกชุมชนของจังหวัดสุรินทร์ โดยใช้ระบบการส่งต่อผู้ป่วยหลังรักษาแล้ว ให้สถานีอนามัยดูแลติดตามอาการต่อ และให้ อสม.ช่วยติดตามอาการ รวมทั้งการแนะนำสัญญาณอันตรายของโรคนี้ โดยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้บริการปรึกษาการดูแลช่วยเหลือ หรือใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะผู้ป่วยร้อยละ 98 มีโทรศัพท์ใช้ นอกจากนี้ ในช่วงปลายเดือนหน้าโรงพยาบาลสุรินทร์จะเปิดคลินิกโรคหัวใจ และในวันที่ 24 กันยายน ซึ่งเป็นวันโรคหัวใจโลก จะมีการรณรงค์ให้ความรู้โรคหัวใจทั้งจังหวัด และจะรณรงค์ให้ตั้งชมรมคนเมืองช้างเรารักษ์หัวใจ ให้ผู้ที่มีความเสี่ยงจะป่วยกับผู้ป่วยแล้วได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การปฏิบัติตัว เช่น การงดสูบบุหรี่ การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ ไม่ให้เกิดอาการซ้ำสองอีก
***************************** 30 สิงหาคม 2550
View 12
30/08/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ