กระทรวงสาธารณสุข เผยผู้แทนจาก 41 ประเทศทั่วโลก ประชุมหารือแนวทางลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ พร้อมรับรอง หลักการกรุงเทพนำไปบริหารจัดการด้านสาธารณสุขกับภัยพิบัติ ตามกรอบเซนได 7 ข้อ เน้นให้เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ กระตุ้นให้ภาครัฐและเอกชนร่วมจัดการ โดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง 

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสำนักงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNISDR) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ประชุมผู้แทนรัฐบาลจาก 41 ประเทศ เจ้าหน้าที่จากองค์การสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ผู้แทนภาคการศึกษาและภาคเอกชน เพื่อจัดทำกรอบการดำเนินงาน ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ปี 2558-2573  และมีมติรับรอง หลักการกรุงเทพสำหรับดำเนินการด้านการสาธารณสุขตามกรอบการทำงานเซนได ซึ่งเรื่องนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญเพื่อบริหารจัดการเรื่องภัยพิบัติ  ทั้งจากภัยธรรมชาติ ภัยจากมนุษย์ และจากโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ และสภาพเศรษฐกิจสังคม  เพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นโดย หลักการกรุงเทพตามกรอบเซนไดนั้น กำหนดให้มีการดำเนินการดังนี้

1. ส่งเสริมการบูรณาการด้านสาธารณสุขในแผนงานและนโยบายการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น รวมทั้งการรวมแผนงานการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉินไว้ในยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุข ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น  2. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านสาธารณสุขและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศในการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติด้านสาธารณสุข การดำเนินงานตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ ค.ศ.2005 และการสร้างระบบบริการสุขภาพที่สามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามด้านสุขภาพในทุกรูปแบบ  3. กระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ในด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉิน รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานและสถานบริการสาธารณสุข

4. บูรณาการประเด็นการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ในการศึกษาและฝึกอบรมด้านสาธารณสุขและเสริมสร้างความเข้มแข็งของบุคลากรสาธารณสุขในการดำเนินงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ 5.รวบรวมข้อมูลอัตราการป่วย การตาย และทุพพลภาพจากภัยพิบัติ ในระบบการเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับทุกประเภทภัย ตัวชี้วัดสำคัญด้านสาธารณสุข และการประเมินความเสี่ยงระดับประเทศ 6. สนับสนุนการประสานความร่วมมือข้ามพรมแดนและข้ามสาขา ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับทุกประเภทภัย รวมถึงภัยด้านชีวภาพ  และ 7. ส่งเสริมการเชื่อมโยงและการพัฒนานโยบายระดับประเทศและระดับท้องถิ่น และยุทธศาสตร์กรอบกฎหมาย ระเบียบ และการจัดการด้านสถาบัน

ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทย ได้มอบให้สำนักสาธารณสุขฉุกเฉินเป็นผู้รับผิดชอบหลัก โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน ในการจัดทำแผนการดำเนินงานของประเทศไทย โดยกำหนดภารกิจ 4 ด้านคือการจัดการด้านความรู้ การเสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการ โดยบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การลงทุน และการจัดเตรียมความพร้อมของหน่วยงาน  

  ************************** 29 มีนาคม 2559



   
   


View 18    29/03/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ