กระทรวงสาธารณสุข บูรณาการและพัฒนาคุณภาพงานอาหารปลอดภัยให้เป็นเอกภาพ  ให้เป็นไปตามมาตรฐาน แนวทางกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 เน้นพัฒนาความรู้ผู้ปฎิบัติงานด้านอาหารความปลอดภัย ให้สามารถสื่อสารข้อมูลความปลอดภัยให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคทั่วประเทศ เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพและส่งเสริมการค้าในประเทศ
 
         วันนี้ (30 มีนาคม 2559) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมเชิงปฎิบัติการแนวทางการดำเนินงานอาหารปลอดภัยภายใต้ระบบคุณภาพอาหารปลอดภัยจังหวัด ปี พ.ศ. 2559 โดยมีผู้ร่วมเข้าประชุมจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค และเขตบริการสุขภาพ ที่ 7-12 ประมาณ 140 คน เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการบูรณาการและพัฒนาต้นแบบคุณภาพงานอาหารปลอดภัย
 
          นายแพทย์สุวรรณชัย  กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารของประเทศไทย  ได้ดำเนินการด้านอาหารปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้อาหารที่วางจำหน่ายในประเทศไทยนั้นมีคุณภาพและความปลอดภัยเป็นที่น่าเชื่อถือในระดับหนึ่ง  การดำเนินงานด้านความปลอดภัยด้านอาหารและโภชนาการให้เป็นผลที่มีรูปธรรมมากกว่าที่เป็นปัจจุบัน ต้องอาศัยความร่วมมือบูรณาการกับอีกหลายภาคส่วน ทั้งภายในกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงต่างๆ โดยมีเครื่องมือสนับสนุนการปฎิบัติงานที่มีความชัดเจน  เจ้าหน้าที่ ผู้ปฎิบัติงานด้านอาหารความปลอดภัย มีความรู้ให้สามารถสื่อสารข้อมูลความปลอดภัยให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคทั่วประเทศ เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพและส่งเสริมการค้าในประเทศ โดยในปีงบประมาณ 2559 เน้นบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยึดหลัก “คนไทยร่วมทำ ร่วมนำ และร่วมรับผิดชอบ” เป็นการอภิบาลแบบเครือข่าย เอื้ออำนวยระบบสุขภาพแห่งชาติ เชื่อมประสานทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน ซึ่งการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานที่รับผิดชอบในห่วงโซ่อาหาร เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดและเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาระบบการทำงานให้มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อาหารตลอดห่วงโซ่มีความปลอดภัย
 
ทั้งนี้ การคุ้มครองผู้บริโภคระดับจังหวัด กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้สำนักสาธารณสุขจังหวัด ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด พัฒนามาตรฐานวิธีปฎิบัติงานด้านอาหารปลอดภัย เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้สอดคล้องตามแนวทางสากลตามกฎระหว่างประเทศ 2548 (IHR 2005) ด้านอาหารปลอดภัย  ขณะนี้ทุกจังหวัดได้พัฒนาคุณภาพอาหารในประเทศผ่านเกณฑ์มาตรฐาน IHR เกือบทุกหัวข้อ และได้ตั้งเป้าพัฒนาให้ผ่าน 100 เปอร์เซ็นต์  รวมทั้งมีการพัฒนาจังหวัดต้นแบบอาหารปลอดภัย ให้ครบทุกภาค เพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีกับจังหวัดอื่นต่อไป
 
         ด้านดร.ไพบูลย์ เอี่ยมขำ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย กล่าวว่า สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางประสานความร่วมมือ ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขด้านอาหารปลอดภัย ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อาหารปลอดภัยความมั่นคงทางอาหาร เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนโดยเน้นป้องกัน เฝ้าระวัง ประเมินข้อมูลความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอาหาร จัดทำข้อเสนอแนวนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ แผนปฎิบัติการ การตรวจประเมินผลความสอดคล้องเพื่อรองรับระบบงานขององค์กร ตามกฏอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548 (IHR 2005)    
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
******************** 30 มีนาคม 2559


   
   


View 22    30/03/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ