รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศ ศึกษาวิจัย พัฒนาวิชาการ เพื่อประยุกต์ใช้แก้ไขควบคุมปัญหาสุขภาพประชาชนไทยในปัจจุบันให้ได้ และสามารถขยายผลสู่เวทีนานาชาติได้ โดยเฉพาะการรับมือกับสภาวะโลกร้อน ที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพตามมา ทั้งยุงชุม น้ำท่วม ภัยแล้ง
เช้าวันนี้ (30 สิงหาคม 2550) ที่โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารระดับสูง เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการของกระทรวงสาธารณสุขครั้งใหญ่ ประจำปี 2550 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29-31 สิงหาคม 2550 มีบุคลากรสายงานแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร่วมประชุมเกือบ 3,000 คน เพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถกำลังคนของกระทรวงสาธารณสุข ให้มีศักยภาพในด้านการศึกษาวิจัยเทียบเท่าระดับสากล ในปี 2550 นี้ บุคลากรสาขาต่างๆ ได้ส่งผลการศึกษาวิจัย พัฒนาสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เพื่อใช้ในการให้บริการประชาชนกว่า 800 เรื่อง ผ่านการนำเสนอในการประชุมครั้งนี้ 309 เรื่อง ในจำนวนนี้ได้จัดแสดงโปสเตอร์และนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์จำนวน 116 เรื่อง อาทิ ประสิทธิผลของสายใยต่อการไหลของน้ำนมแม่ เครื่องบรรจุทรายกำจัดลูกน้ำจากวัสดุเหลือใช้ เครื่องทำน้ำสะอาดปราศจากเชื้อโดยใช้แสงยูวี สุขาอัจฉริยะแบบภูมิปัญญาไทยเพื่อผู้สูงวัย/ผู้พิการ การลดขั้นตอนการทำฟันเทียมทั้งปาก นวัตกรรมเครื่องฉีดยาศพบีอาร์อาร์เอช (BRRH) 2006 เป็นต้น
ในวันนี้ นายแพทย์มงคลได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัล 10,000 บาท ให้เจ้าของผลงานวิชาการยอดเยี่ยมประจำปี 2549 จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ นายแพทย์สุธิต คุณประดิษฐ์ โรงพยาบาลลำพูน ผู้คิดค้นผลงานเรื่อง การสร้างและตรวจสอบการใช้คะแนนเสี่ยง เพื่อทำนายการผ่าตัดคลอดจากภาวะศีรษะเด็กไม่ได้สัดส่วนกับอุ้งเชิงกรานมารดา เภสัชกรดำรงเกียรติ ตั้งเจริญ โรงพยาบาลอุดรธานี เจ้าของผลงาน โปรแกรมคัดกรองคำสั่งและการเตรียมยาเคมีบำบัดสำหรับรักษาโรคมะเร็ง และนางสาวอุบลรัตน์ ดีพร้อม โรงพยาบาลสุรินทร์ ผลงานเรื่อง การพัฒนากระบวนการดูแลผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หลังจากนั้นได้ทำพิธีเปิดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สืบสานพระเมตตา พัฒนาสุขภาพผู้สูงวัย
นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ขณะนี้ มีความจำเป็นมากที่บุคลากรสาธารณสุขจะต้องช่วยกันศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาวิชาการด้านต่างๆ นำมาใช้แก้ไขปัญหาสาธารณสุขที่รับผิดชอบอยู่ให้ทันการ เป็นการพึ่งตนเองไม่อาศัยงานวิชาการของมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว เนื่องจากปัญหาสุขภาพมีแนวโน้มเกิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ ที่สำคัญคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่ง 2 โรคนี้มีโรคแทรกซ้อนตามมาหลายโรค ต้องช่วยกันดูแลผู้ป่วย ไม่ให้อาการรุนแรงถึงขั้นไตวายจนต้องล้างไต เนื่องจากเป็นบริการที่ช่วยยืดอายุผู้ป่วยเท่านั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดีเพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก และหากเราควบคุมโรคที่เกิดในปัจจุบันไม่ได้ หรือเอาไม่อยู่ ต่อไปภาระจะหนักขึ้นเรื่อยๆ
ประเด็นร้อนที่ต้องช่วยทั่วโลกแก้ไขอย่างเร่งด่วนขณะนี้ก็คือ ภาวะโลกร้อน เนื่องจากภาวการณ์เกิดขึ้นของเรือนกระจก จากการทำของมนุษย์ โดยเฉพาะการใช้พลังงานเชื้อเพลิงที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามาก แทนที่พลังงานของแสงอาทิตย์ 2 ใน 3 ส่วนจะถูกดูดซับไว้ที่ผิวโลกในสภาพความร้อน และถูกส่งสะท้อนกลับไปยังอวกาศ แต่ความร้อนก็ถูกกักไว้โดยสภาวะเรือนกระจก และสะท้อนมายังผิวโลก จึงทำให้บรรยากาศของโลกร้อนขึ้นกว่าปกติ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดน้ำท่วม ภาวะแล้ง และมีผลกระทบทางด้านสาธารณสุข ทำให้ปริมาณยุงชุกชุมขึ้น ทั้งยุงลาย ยุงก้นปล่อง ยุงเสือ ซึ่งนำเชื้อโรคไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย โรคเท้าช้าง รวมทั้งอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น มีผลให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี เช่น โรคติดต่อทางน้ำและอาหาร
อยากให้นักวิชาการ นักวิจัยด้านสุขภาพ มีมุมมองที่กว้างไกล ติดตามสภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดนี้ และช่วยกันเผยแพร่ความรู้ ให้ประชาชนเข้าใจสภาวะและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ต้องช่วยกันลดการใช้พลังงานน้ำมัน ไฟฟ้า เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยให้มีแผนปฏิบัติงานและการดำเนินงานบรรเทาภาวะโลกร้อนอย่างทั่วถึง เช่น ลดการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันที่ไม่จำเป็น ปรับแต่งและออกแบบอาคารให้ใช้ไฟฟ้าน้อยลง ตลอดจนปรับกิจกรรมต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ขอให้ช่วยกันศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสภาวะนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อนำผลการวิจัยไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพการทำงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขต่อไป นายแพทย์มงคลกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสนับสนุนการประชุมวิชาการทุกปี นอกจากจะเป็นเวทีรวมผลงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุข ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนแล้ว ยังเป็นการระดมความคิดที่เป็นแนวทางใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการนำไปพัฒนาและปรับเปลี่ยนแผนงาน โครงการ และกิจกรรมที่รับผิดชอบให้สอดคล้อง เหมาะสมกับสถานการณ์และพื้นที่มากยิ่งขึ้น
******************* 30 สิงหาคม 2550
View 25
30/08/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ