“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 128 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เผยอุบัติเหตุฉลองสงกรานต์ปี 2559 ช่วง 2 วัน พบรุนแรงกว่าปีที่แล้ว โดยมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุร้อยละ 64 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด สาเหตุจากเมาแล้วขับ และขับเร็ว รถมอเตอร์ไซค์เกิดอุบัติเหตุสูงสุดร้อยละ 80 มีการเรียกใช้สายด่วนกู้ชีพ 1669 ร้อยละ 39 เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเรียกใช้บริการ ชี้หากผู้บาดเจ็บได้รับการดูแลและนำส่งโดยทีมแพทย์มืออาชีพ จะช่วยลดการเสียชีวิตของผู้บาดเจ็บได้มากกว่า ส่วนผลการตรวจเหล้า ตรวจผู้ฝ่าฝืนทั้งหมด 370 ราย ทำผิดและดำเนินคดี 95 ราย
วันนี้ (13 เมษายน 2559)ที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าว ผลการปฏิบัติงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2559 ในรอบ 2 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-12 เมษายน 2559 ว่า จากการประเมินสถานการณ์ของอุบัติเหตุจราจรพบว่า ปีนี้มีความรุนแรงมาก พบว่ามีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุมากถึงร้อยละ 64 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด สาเหตุจากเมาแล้วขับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13 และขับรถเร็วเกินกำหนดเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 มีผู้บาดเจ็บ ร้อยละ 15 ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล และมีอีกร้อยละ 10 บาดเจ็บรุนแรงต้องส่งไปรักษาต่อในโรงพยาบาลที่ศักยภาพสูงกว่า ประเภทรถที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือจักรยานยนต์ร้อยละ 80 รองลงมารถปิคอัพ ตลอด 2 วันที่ผ่านมา ศูนย์สั่งการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินทั่วประเทศ ของกระทรวงสาธารณสุข ได้รับแจ้งเหตุจากประชาชนทางสายด่วนแพทย์ฉุกเฉิน 1669 คิดเป็นร้อยละ 39 จากจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการในโรงพยาบาล โดยผู้นำส่งโรงพยาบาลเป็นหน่วยกู้ชีพ มูลนิธิ/อาสาสมัคร มากที่สุดร้อยละ 67
ในวันนี้ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศเร่งดำเนินการ 3 เรื่องเพื่อลดการบาดเจ็บและเสียชีวิต จากจราจร ได้แก่ 1.เร่งรัดการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน แจ้งเหตุเข้ามาทางสายด่วน 1669 ให้มากขึ้น ได้เตรียมทีมไว้มากกว่า 14,000 ทีมทั่วประเทศ พร้อมเจ้าหน้าที่อีกกว่า 160,000 คนพร้อมให้ความช่วยเหลือ 2.ให้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ เข้มงวดกวดขันบังคับใช้กฎหมายพระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 อย่างเคร่งครัด ผู้ใดฝ่าฝืนให้ดำเนินคดีทันที 3.การตั้งจุดสกัด ด่านชุมชน ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไปเพราะช่วยลดอุบัติเหตุในชุมชนลงได้
สำหรับผลการตรวจบังคับใช้กฎหมายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ในช่วงวันที่ 10-12 เมษายน 2559 ตรวจรวมทั้งหมด 370 ราย ที่ ตราด แพร่ พะเยา อุบลราชธานี ศีรษะเกษ สุราษฎร์ธานี พบผู้กระทำผิด และดำเนินคดี 95 ราย ความผิดอันดับ 1 ได้แก่ การโฆษณาสื่อสารการตลาด รวม 31 ราย รองลงมาคือขายและดื่มนอกเวลา 29 ราย การลดแลกแจกแถม 18 ราย ขายในที่ห้ามขายรวม 7 ราย ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี 3 ราย และดื่มในสถานที่ต้องห้าม เช่น บนถนน สวนสาธารณะ 4 ราย ได้กำชับทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศ ประสานทีมเจ้าหน้าที่ตำรวจและสรรพสามิต ออกตรวจเตือนประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนอย่างต่อเนื่อง และหากพบกระทำผิดจะดำเนินคดีทุกรายทันทีเช่นกัน
โดยโทษความผิดขายเหล้าดังนี้ 1.ขายในสถานที่ห้ามขาย มีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.การโฆษณาเหล้า ลดแลกแจกแถม มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 500,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3.ขายโดยไม่มีใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท 4.ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 5.สำหรับผู้ขายนอกเวลามีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 6.ดื่มเหล้าบนรถ มีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ สถิติอุบัติเหตุในรอบ 24 ชั่วโมงของวันที่ 12 เมษายน 2559 เกิดอุบัติเหตุ 520 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 550 คน เสียชีวิต 64 ราย สาเหตุส่วนใหญ่ เมาสุรา ร้อยละ 36 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 33 ยอดรวม 2 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-12 เมษายน 2559 มีอุบัติเหตุสะสม 907 ครั้ง บาดเจ็บสะสม 981 คน เสียชีวิต 116 ราย จังหวัดที่บาดเจ็บสะสมสูงสุดคือเชียงใหม่ 48 ครั้ง เสียชีวิตสะสมสูงสุด คือบุรีรัมย์ 8 ราย
*********************13 เมษายน 2559